การประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (HIA) ด้านการจัดการระบบอาหารปลอดภัยจังหวัดนครศรีธรรมราช
ชื่อโครงการ | การประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (HIA) ด้านการจัดการระบบอาหารปลอดภัยจังหวัดนครศรีธรรมราช |
ภายใต้โครงการ | แผนงานโซนใต้กลาง |
ภายใต้องค์กร | สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (สนส. ม.อ.) |
รหัสโครงการ | |
วันที่อนุมัติ | |
ระยะเวลาดำเนินโครงการ | 1 พฤษภาคม 2561 - 30 เมษายน 2562 |
แหล่งทุน |
ไม่ระบุ
|
งบประมาณ | 165,000.00 บาท |
ชื่อองค์กรที่รับผิดชอบ | |
ผู้รับผิดชอบโครงการ | ดร.รัชฎาภรณ์ จันทสุวรรณ์ |
เบอร์โทรผู้รับผิดชอบโครงการ | |
อีเมล์ผู้รับผิดชอบโครงการ | |
พี่เลี้ยงโครงการ | |
พื้นที่ดำเนินการ | จังหวัดนครศรีธรรมราช |
ละติจูด-ลองจิจูด | place |
จังหวัด | อำเภอ | ตำบล | ชื่องานในพื้นที่ | ลักษณะพื้นที่ | |
---|---|---|---|---|---|
นครศรีธรรมราช | place directions |
งวด | วันที่งวดโครงการ | วันที่งวดรายงาน | งบประมาณ (บาท) | |||
---|---|---|---|---|---|---|
จากวันที่ | ถึงวันที่ | จากวันที่ | ถึงวันที่ | |||
1 | 1 พ.ค. 2561 | 31 ธ.ค. 2561 | 1 พ.ค. 2561 | 31 ก.ค. 2562 | 100,000.00 | |
2 | 1 ม.ค. 2562 | 31 มี.ค. 2562 | 50,000.00 | |||
3 | 1 เม.ย. 2562 | 30 เม.ย. 2562 | 15,000.00 | |||
รวมงบประมาณ | 165,000.00 |
สถานการณ์ปัญหา | ขนาด |
---|
ความสำคัญของโครงการ สถานการณ์ หลักการและเหตุผล
การประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (Health Impact Assessment; HIA) เป็นแนวทางหรือวิธีการในการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดขึ้นจากนโยบาย แผนงาน หรือโครงการ ต่อประชาชน โดยการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสุขภาพหรือลดผลกระทบด้านลบต่อสุขภาพ (World Health Organization; WHO, 2018) ในประเทศไทย พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ได้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับ HIA ไว้ใน มาตราที่ 5 (บุคคลมีสิทธิในการดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ) มาตราที่ 10 (เมื่อมีกรณีที่จะมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนเกิดขึ้น หน่วยงานของรัฐที่มีข้อมูลเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว ต้องเปิดเผยข้อมูลนั้น และวิธีป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพให้ประชาชนทราบและจัดหาข้อมูลให้โดยเร็ว) และมาตราที่ 11 (บุคคลหรือคณะบุคคลมีสิทธิร้องขอให้มีการประเมินและมีสิทธิร่วมในกระบวนการประเมิน ผลกระทบด้านสุขภาพจากนโยบายสาธารณะ บุคคลหรือคณะบุคคลมีสิทธิได้รับรู้ข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยงานของรัฐ ก่อนการอนุญาตหรือการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใดที่อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพของตนหรือชุมชนและแสดงความคิดเห็นของตนในเรื่องดังกล่าว) นอกจากนี้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 หมวดสิทธิชุมชน มาตรา 67 วรรค 2 ยังได้กล่าวเกี่ยวกับ HIA “การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพ สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพ สิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน รวมทั้งได้ให้องค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว” จากการทำ HIA ในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ มากมาย ทั้งกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน การเกิดภาคีเครือข่าย การเกิดกระบวนการและเครื่องมือในการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ การปรับเปลี่ยนนโยบาย กฎหมาย หลักเกณฑ์ วิธีการต่างๆ ในการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (อำพล จินดาวัฒนะ, 2558) มีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับอาหารปลอดภัย ได้แก่ การใช้ตารางประเมินความเสี่ยง เพื่อการเลือกเครื่องมือที่เหมาะสม ในการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ จากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งศึกษาชนิดของสารเคมีที่ใช้ รูปแบบ ความถี่ของการใช้สารเคมีของเกษตรกรในพื้นที่ภาคเหนือ แล้วนำมาหาค่าความเสี่ยงต่อสุขภาพ ผลการประเมินที่ได้นำไปใช้ในการเป็นข้อมูลเตือนภัยเกษตรกรผู้ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ว่าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชชนิดใดมีอันตรายต่อผู้ใช้มากกว่ากัน ซึ่งนำไปสู่การกำหนดให้ยาฆ่าหญ้ากลุ่มพาราควอตเป็นสารเคมีที่ต้องเฝ้าระวังในกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ศึกษา (ปภพ อินอ้าย, ทัศน์ชัย ทอแสงมิติ, สุชา นุ่มเกลี้ยง, วิสาข์ สุพรรณไพบูลย์ และพีรญา อึ้งอุดรภักดี, 2558)
การศึกษาผลกระทบทางสุขภาพ ด้านการจัดการระบบอาหารปลอดภัย เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่มีความสำคัญต่อสุขภาพของประชากรทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย แต่ยังไม่มีการศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง ซึ่งจากการทบทวนวรรณกรรมพบว่า ระบบอาหารปลอดภัย (food safety system) เป็นการจัดการให้อาหารและสินค้าที่นำมาบริโภคนั้นมีความปลอดภัย เพื่อให้ผู้บริโภคมีความปลอดภัยจากอันตรายที่มาจากอาหารใน 3 ประเด็น ได้แก่ 1) อันตรายทางชีวภาพ (Biological hazard) เป็นอันตรายในอาหารที่มาจากสิ่งมีชีวิตที่ก่อให้เกิดอันตรายหรือเกิดโรค เช่น แบคทีเรีย หนอนพยาธิ และไวรัส เป็นต้น 2) อันตรายทางเคมี (Chemical hazard) เป็นอันตรายที่เกิดจากสารเคมีทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และจากการปนเปื้อนทั้งที่เจตนาและไม่เจตนา และ 3) อันตรายทางกายภาพ (Physical hazard) ซึ่งเกิดจากสิ่งแปลกปลอมที่ปนเปื้อนมากับอาหารที่ก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้บริโภค โดยสิ่งแปลกปลอมนั้นมาจากหลายแหล่ง อาทิเช่น ปนเปื้อนมากับวัตถุดิบ เครื่องจักรในการแปรรูป โลหะ สัตว์ พลาสติก เป็นต้น (พิมพ์เพ็ญพรเฉลิมพงศ์, 2560) สำหรับประเทศไทย ปัญหาที่พบมากและบ่อยที่สุดในประเด็นของอาหารปลอดภัยจะเป็นเรื่องของการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต ซึ่งส่งผลให้มีสารเคมีตกค้างในพืชผัก ผลไม้
การใช้สารเคมีทางการเกษตรของเกษตรกรไทย เป็นผลมาจากพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทยเหมาะสำหรับทำการเกษตร ประกอบกับรัฐบาลมุ่งเน้นการสร้างรายได้ของชาติจากการส่งออกพืชผลทางการเกษตร ทำให้มีการขยายพื้นที่ทำการเกษตรออกไปเป็นร้อยละ 47 โดยเน้นการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อการค้า (สุวิทย์ วรรณศรี, 2552) ทำให้ต้องพึ่งพาปัจจัยการผลิต อันได้แก่ สารเคมีกำจัดวัชพืช สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ปุ๋ยเคมี ซึ่งการนำเข้าสารเคมีทุกชนิดรวมถึงปุ๋ยเคมี มีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี โดยในปี 2560 ปริมาณและมูลค่าการนำเข้าสารเคมีกำจัดวัชพืช รวม 148,979 ตัน คิดเป็นมูลค่า 13,686 ล้านบาท สารเคมีกำจัดแมลง 21,601 ตัน มูลค่า 6,166 ล้านบาท และสารเคมีป้องกันและกำจัดโรคพืช 19,923 ตัน มูลค่า 6,974 ล้านบาท (กรมวิชาการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, 2561) การใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต ทำให้ทั้งเกษตรกรและผู้บริโภคพืชผัก ผลไม้ มีสารเคมีตกค้างในร่างกาย โดยผลการตรวจระดับโคลีนเอสเตอเรสในเลือดเกษตรกร ปี 2556ในพื้นที่ 48 จังหวัดของประเทศไทย 3 แสนกว่าคน พบว่าอยู่ในเกณฑ์ไม่ปลอดภัยร้อยละ 30 โดยเฉพาะผู้ที่มีอาชีพรับจ้างพ่นยาฆ่าแมลงหรือยากำจัดวัชพืช (สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค, 2557) สำหรับผลการตรวจระดับโคลีนเอสเตอเรสในเลือดผู้บริโภค ตำบลเขาพระบาท จังหวัดนครศรีธรรมราช พบว่ามีสารเคมีตกค้างในเลือด (เสี่ยง/ไม่ปลอดภัย) สูงถึงร้อยละ 39.1 (รัชฎาภรณ์ จันทสุวรรณ์, อุไร จเรประพาฬ, กำไล สมรักษ์, ยงยุทธ์ สุขพิทักษ์, และมนูญ พลายชุม, 2561) ซึ่งการมีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในร่างกาย ส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะสั้นและระยะยาว ทั้งในเรื่องของประสาทสัมผัสการเคลื่อนไหวบกพร่อง ความผิดปกติทางกายภาพของต่อมไทรอยด์ โดยมีรายงานว่าสารป้องกันกำจัดแมลงบางชนิดมีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็ง เช่น มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งตับอ่อน มะเร็งเต้านม และมะเร็งผิวหนัง (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, 2557) ส่วนผลกระทบต่อสุขภาพในระยะเฉียบพลัน ได้แก่ อาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดกล้ามเนื้อ ท้องเสีย หายใจติดขัด ตาพร่ามัว เป็นต้น สำหรับผลกระทบในระยะเรื้อรังนั้นก่อให้เกิดโรคต่างๆ เช่น มะเร็ง อัมพฤกษ์ อัมพาต โรคผิวหนัง ความพิการ หรือการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เป็นต้น (มูลนิธิชีววิถี, 2554)
นอกจากนี้การใช้สารเคมีในการเพาะปลูก ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้เกิดปัญหาการเสื่อมโทรมของดิน ซึ่งสารเคมีมักจะสะสมอยู่บริเวณหน้าดินทำให้ดินเกิดการเสื่อมสภาพ เช่น ขาดสารอาหาร ดินเค็ม ดินเป็นกรด นอกจากนี้ปริมาณสารเคมีที่สะสมในดิน เมื่อโดนน้ำชะล้างไปย่อมส่งผลให้สารเคมีตกค้างในน้ำที่ใช้ในการอุปโภคและบริโภค รวมทั้งสารเคมีที่สะสมปริมาณมากทำให้ไส้เดือนหรือสัตว์ในดินที่เป็นประโยชน์ลดปริมาณลงส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพของดินที่เสื่อมลง (สุวิทย์ วรรณศรี, 2552; สุธาสินีอั้งสูงเนิน, 2558) นอกจากนี้การใช้ปุ๋ยเคมีเป็นระยะยาวนาน ทำให้ธาตุอาหารในดินถูกดึงมาใช้ประโยชน์แต่ขาดการบำรุงรักษา การใช้ปุ๋ยเคมีไม่ใช่การบำรุงดิน แต่เป็นการอัดแร่ธาตุอาหารให้พืช และกระตุ้นให้พืชดูดแร่ธาตุอาหารอื่นๆ ที่มีอยู่ในดินมาใช้อย่างหนัก ทำให้มีการเสื่อมสลายของธาตุอาหารในดินเพิ่มขึ้น ดังนั้นเมื่อเวลาผ่านไป ประสิทธิภาพของการใช้ปุ๋ยเคมีจะลดลง (สุวิทย์ วรรณศรี, 2552) มลพิษทางน้ำเป็นผลกระทบมาจากการชะล้างของสารเคมีที่หน้าดินแล้วและการล้างหรือทิ้งภาชนะบรรจุสารเคมีในแหล่งน้ำโดยตรง การใช้สารเคมีใกล้กับแหล่งน้ำ เป็นต้น สารเคมีที่อยู่ในแหล่งน้ำจะก่อให้เกิดการสะสมในสัตว์น้ำ เช่น ปลา หอย ปู กุ้ง เป็นต้น เมื่อนำสัตว์น้ำเหล่านั้นมาบริโภคย่อมก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพตามมา (สุธาสินี อั้งสูงเนิน, 2558) จากการศึกษาเกี่ยวกับการตกค้างและสะสมของสารเคมีในดินและแหล่งน้ำ ใน 8 จังหวัดของภาคตะวันออกพบว่า มีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชกลุ่มออร์กาโนคลอรีนตกค้างในดินสูงถึงร้อยละ 55 และในน้ำสูงถึงร้อยละ 60 เพราะสารเคมีกลุ่มออร์กาโนคลอรีน มีระยะเวลาการสลายตัวนาน จึงสะสมอยู่ในธรรมชาติได้มาก (สุวิทย์ วรรณศรี, 2552)
ปัญหาอาหารไม่ปลอดภัยจากการปนเปื้อนจากสารเคมีดังกล่าวข้างต้นเป็นปัญหาในระดับประเทศและระดับชุมชน เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชหรือ Thai-PAN (ไทยแพน) ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผักและผลไม้ที่ประชาชนนิยมบริโภค จำนวน 138 ตัวอย่าง ในผัก 10 ชนิด ได้แก่ กะหล่ำปลี แตงกวา ผักบุ้งจีน มะเขือเทศ ผักกาดขาวปลี คะน้า ถั่วฝักยาว มะเขือเปราะ กะเพรา และพริกแดงแตงโม มะม่วงน้ำดอกไม้ มะละกอ แก้วมังกร ฝรั่ง และส้มสายน้ำผึ้ง ในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล เชียงใหม่และอุบลราชธานี ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2559 และส่งไปวิเคราะห์หาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างแบบ Multi Residue Pesticide Screen (MRPS) ณ ห้องปฏิบัติการในประเทศอังกฤษ พบสารเคมีตกค้างที่ “ต้องไม่พบ หรือไม่ควรพบ” 4 ชนิด ได้แก่ เอนโดซับแฟนซัลเฟต คาร์โบฟูราน เมโทมิล และ DEET (สารเคมีกำจัดยุง) จำนวน 66 ตัวอย่าง ซึ่งเพิ่มจากปี 2555 กว่า 3 เท่า ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการเลือกวิธีการตรวจหรือห้องปฏิบัติการที่มีศักยภาพมากขึ้น โดยผลการตรวจในภาพรวม พบสารตกค้างในผักและผลไม้เกินมาตรฐานถึงร้อยละ 46.4 และสิ่งที่น่าตกใจคือ ผักและผลไม้ซึ่งได้รับตรา Q โดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) พบสารเคมีตกค้างมากที่สุด โดยพบสูงถึงร้อยละ 57.1 ผักและผลไม้อินทรีย์ที่ได้รับการรับรอง Organic Thailand พบการตกค้างเกินมาตรฐานถึงร้อยละ 25 (Thai-PAN, 2559) สำหรับในภาคใต้ จากข้อมูลบ้านเขาฝากซึ่งเป็นที่ตั้งขององค์การบริหารส่วนตำบลคลองยาง อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ มีประชากร 482 ครัวเรือน รวม 1,875 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำสวนยางพารา ปลูกปาล์มน้ำมัน พบว่าผู้ที่ทำสวนร้อยละ 90 ใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช และใช้ปุ๋ยเคมี ครัวเรือนส่วนใหญ่ (ร้อยละ 80) นิยมซื้อพืชผักจากตลาดในชุมชนมาบริโภค ซึ่งสะดวก รวดเร็ว และได้สินค้าอุปโภคบริโภคครบในคราวเดียว พืชผักที่นำมาขายในตลาดนั้น ได้รับซื้อมาจากต่างพื้นที่หรือต่างจังหวัดซึ่งใช้สารเคมีในการเพาะปลูกเช่นกัน และจากข้อมูลของรพ.สต.บ้านคลองยาง พบว่าคนในชุมชนไปรับบริการที่รพ.สต. ด้วยอาการผื่นคันตามผิวหนังเดือนละประมาณ 20 คน เวียนศีรษะ คลื่นไส้ โดยไม่ทราบสาเหตุ เดือนละประมาณ 7 คน และคนที่รับจ้างฉีดสารเคมีกำจัดวัชพืชหรือศัตรูพืชพบมีอาการลิ้นแข็งหรือลิ้นชา 3 คน
ปัจจุบันความต้องการของการบริโภคอาหารเพิ่มมากยิ่งขึ้น และผู้บริโภคส่วนใหญ่ต้องการความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์อาหารที่รับประทาน ส่งผลให้มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการคุ้มครองผู้บริโภคมีบทบาทในการควบคุมระบบการจัดการความปลอดภัยด้านอาหาร (Food Safety Management System: FSMS) เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจในความปลอดภัยของอาหารที่นำมาบริโภค (วินัย ปิติยนต์, 2550) ดังนั้นกระบวนการเพาะปลูกผลิตผลทางการเกษตรเป็นกระบวนการที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบความปลอดภัยของอาหาร เริ่มตั้งแต่กระบวนการเตรียมพื้นที่สำหรับการเพาะปลูกจนกระทั่งการเก็บเกี่ยวและขนส่งผลิตผลทางการเกษตร เพื่อสร้างความปลอดภัยในอาหารทางการเกษตรและคุณภาพของผลิตผลทางการเกษตร รวมทั้งดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมไม่ให้เกิดการปนเปื้อนจากสารเคมีที่อันตรายพร้อมทั้งดูแลสุขภาพ ความปลอดภัย และสวัสดิภาพของผู้ปฏิบัติงานด้านการเกษตร จึงมีข้อกำหนดดังนี้ 1) แหล่งน้ำ กำหนดให้น้ำที่นำมาใช้ต้องมาจากแหล่งที่ไม่มีสภาพแวดล้อมซึ่งก่อให้เกิดการปนเปื้อนวัตถุหรือสิ่งที่เป็นอันตราย 2) พื้นที่เพาะปลูก ต้องเป็นพื้นที่ที่ไม่มีวัตถุหรือสิ่งที่เป็นอันตรายที่ส่งผลให้เกิดการตกค้างหรือปนเปื้อนในผลผลิต 3) การใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตร กำหนดให้ผู้ปฏิบัติงานต้องมีความรู้ในการใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตรที่ถูกต้อง โดยปฏิบัติตามฉลากที่ขึ้นทะเบียนอย่างเคร่งครัด 4) การจัดการคุณภาพในกระบวนการผลิตก่อนการเก็บเกี่ยว ต้องมีการปฏิบัติที่ทำให้มั่นใจว่าผลิตผลทางการเกษตรมีคุณภาพ การเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติการหลังการเก็บเกี่ยวโดยเก็บเกี่ยวผลิตผลที่มีอายุการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม ถูกสุขลักษณะ แยกผลิตผลที่ไม่มีคุณภาพออก ป้องกันการปนเปื้อนและดูแลภาชนะที่บรรจุให้มีความสะอาดและปลอดภัย การพักผลิตผล การขนย้ายในแปลงปลูกและการเก็บรักษา และสุขลักษณะส่วนบุคคลเพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างถูกสุขลักษณะ ดังนั้นกระบวนการผลิตจึงมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งต่อความปลอดภัยของอาหาร ซึ่งการปนเปื้อนของสารเคมีหรือสิ่งปนเปื้อนต่างๆ นั้นย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตและผู้บริโภคเป็นอย่างมาก
จังหวัดนครศรีธรรมราชมีการดำเนินงานด้านการจัดการระบบอาหารปลอดภัย โดยมีหลายหน่วยงาน ดำเนินการตามบทบาทหน้าที่ เช่น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราชดำเนินกิจกรรมการให้ข้อมูลการซื้อ จัดหา จัดการปรุงอาหารให้ปลอดภัย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการให้ภาคประชาชนปลูกผักด้วยเกษตรอินทรีย์ป้องกันการปนเปื้อนสารพิษในผักและผลไม้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการให้ชุมชนผลิต จัดหา จำหน่ายอาหารที่ปลอดภัย เป็นต้น แต่จากการที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมกับหน่วยตรวจสอบเคลื่อนที่เพื่อความปลอดภัยด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ (Mobile Unit for Food Safety) กลุ่มภาคใต้ตอนบน ได้ดำเนินการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างอาหารในจังหวัดนครศรีธรรมราช ในปีงบประมาณ 2560 โดยการเก็บตัวอย่างอาหาร ผักและผลไม้สด เพื่อตรวจสอบการปนเปื้อนยาฆ่าแมลง จำนวน 2,097 ตัวอย่าง ผลการตรวจผ่านมาตรฐานจำนวน 1,970 (ร้อยละ 93.94) (สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช, 2560)
จากสถานการณ์ข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่าอาหารที่ประชาชนในจังหวัดนครศรีธรรมราช ยังมีการปนเปื้อนทั้งสารเคมี ยาฆ่าแมลง และน้ำบริโภคที่จำหน่ายบางส่วนยังไม่ได้มาตรฐาน ทำให้ประชาชนยังเจ็บป่วยด้วยสาเหตุจากการผลิตและบริโภคอาหารที่ไม่ปลอดภัย ตั้งแต่การผลิตอาหารที่ปนเปื้อนสารเคมี ทำให้เกิดสิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการบริโภคอาหารที่ปลอดภัยตั้งแต่สารเคมีปนเปื้อนในดิน ในแหล่งน้ำ และการจำหน่ายอาหารที่ไม่ปลอดภัย นำมาสู่การศึกษาเพื่อประเมินผลกระทบทางสุขภาพจากการจัดการระบบอาหารปลอดภัยในบริบทของจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งมีความแตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ ทั้งในด้านสภาพภูมิประเทศ ลักษณะของประชากร นโยบาย กิจกรรม โครงการต่างๆ ของทั้งภาครัฐและเอกชน นอกจากนี้ยังมีความแตกต่างกันทั้งในด้านสังคม วัฒนธรรม และประเพณีต่างๆตั้งแต่การศึกษาหาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการจัดการระบบฯ อาหารปลอดภัย ทั้งการผลิตภาคเกษตร และอุตสาหกรรม การขนส่งสินค้า การจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภค การทบทวนสังเคราะห์แผนยุทธศาสตร์/มาตรการ/โครงการ/กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาหารปลอดภัยตั้งแต่ระดับประเทศ จังหวัด ตำบล และชุมชน การศึกษาข้อมูลสถานการณ์อาหารปลอดภัย เช่น พฤติกรรมการบริโภคอาหาร ผลการตรวจสารเคมีตกค้างในน้ำ ดิน อาหาร และผลการตรวจสุขภาพประชาชนที่เป็นผลมาจากการบริโภคอาหาร เป็นต้น การพัฒนาตัวชี้วัดและเครื่องมือในการประเมินผลกระทบทางสุขภาพที่แสดงถึงอาหารปลอดภัย การประเมินผลกระทบทางสุขภาพในระดับจัดหวัด ตำบล และชุมชน การจัดเวลาทบทวนและคืนข้อมูลให้กับผู้มีส่วนได้เสียในทุกระดับ การวางระบบการติดตามประเมินผล และสุดท้ายเป็นการยกร่างข้อเสนอเพื่อกำหนดเป็นยุทธศาสตร์การจัดการระบบอาหารปลอดภัยของจังหวัดนครศรีธรรมราช สำหรับผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในระยะต่อไป
กรอบแนวคิดในการศึกษาวิจัย
การประเมินผลกระทบทางสุขภาพด้านการจัดการระบบอาหารปลอดภัย จังหวัดนครศรีธรรมราช แบ่งการศึกษาออกเป็น 2 ระยะ โดยใช้ประกอบด้วย
ระยะที่ 1: การวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อค้นหาผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการระบบอาหารปลอดภัย ในเขตพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ตั้งแต่ 1) ผู้ผลิต/กระบวนการผลิต ผู้จำหน่าย/กระบวนการจำหน่าย กระบวนการควบคุมคุณภาพ การตรวจสารเคมีตกค้างในพืช/ผัก และผู้บริโภคอาหาร/การจัดการก่อนบริโภค 2) ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรชุมชน และภาคประชาชน 3) ผู้ได้รับผลกระทบทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรชุมชน และภาคประชาชน
ระยะที่ 2 การประเมินผลกระทบทางสุขภาพด้านการจัดการระบบอาหารปลอดภัยของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยใช้กรอบแนวคิดการประเมินผลกระทบทางสุขภาพของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (2559) ซึ่งประกอบด้วย 6 ขั้นตอน แต่การศึกษาครั้งนี้นำกรอบแนวคิดเฉพาะขั้นตอนที่ 1-5 มาใช้ ได้แก่ 1) การกลั่นกรองนโยบาย แผนงาน โครงการหรือกิจกรรมโดยสาธารณะ 2) การกำหนดขอบเขตการศึกษาและแนวทางการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ 3) การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ 4) การทบทวนร่างรายงานการศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบด้านสุขภาพโดยสาธารณะ และ 5) การผลักดันเข้าสู่กระบวนการตัดสินใจ โดยครอบคลุมขอบเขตการประเมินตั้งแต่ 1) ระยะต้นทาง (การผลิต เช่น การใช้สารเคมี ปุ๋ยเคมี เกษตรอินทรีย์ การจัดการดิน/น้ำ) 2) ระยะกลางทาง (กระบวนการแปรรูปอาหาร กระบวนการขนส่ง กระบวนการจำหน่าย กระบวนการควบคุมคุณภาพ การตรวจสารเคมีตกค้างในพืช/ผัก) และ 3) ระยะปลายทาง (การจัดการสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างก่อนบริโภค สารเคมีตกค้างในผู้บริโภค ผลกระทบจากการบริโภคอาหารที่มีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้าง) โดยทุกขั้นตอนจะต้องทำโดยการมีส่วนร่วมของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการระบบอาหารปลอดภัยต่อสารเคมีกำจัดศัตรูพืช/วัชพืช ผู้วิจัยจะรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน และเปิดโอกาสให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็นโดยไม่มีผิดหรือถูก นอกจากนี้ผู้วิจัยใช้ปัจจัยกำหนดสุขภาพเป็นกรอบแนวคิดในการมองภาวะสุขภาพของคนที่เป็นผลมาจากลักษณะส่วนบุคคล สิ่งแวดล้อม และระบบบริการสุขภาพ/กลไกการจัดการ
วัตถุประสงค์/ตัวชี้วัดความสำเร็จ | ขนาดปัญหา | เป้าหมาย 1 ปี | |
---|---|---|---|
1 | 1. เพื่อวิเคราะห์หาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องกับการจัดการระบบอาหารปลอดภัย จังหวัดนครศรีธรรมราช
|
||
2 | 2. เพื่อประเมินผลกระทบทางสุขภาพจากการจัดการระบบอาหารปลอดภัยของจังหวัดนครศรีธรรมราช
|
กลุ่มเป้าหมาย | จำนวนที่วางไว้(คน) | จำนวนที่เข้าร่วม(คน) | |
---|---|---|---|
จำนวนกลุ่มเป้าหมายทั้งหมด | |||
กลุ่มเป้าหมาย | จำนวนที่วางไว้(คน) | จำนวนที่เข้าร่วม(คน) |
โครงการเข้าสู่ระบบเมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2561 05:33 น.