สถาบันนโยบายสาธารณะ (สนส. ม.อ.)

นโยบายสวนยางยั่งยืน

ปรึกษาหารือจัดทำแผนความร่วมมือขับเคลื่อน เกษตรกรรมยั่งยืน ( 5 รูปแบบ) : สวนยางยั่งยืน กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับจังหวัด หรือกลุ่มจังหวัดนครศรีธรรมราชและสัมมนาเชิงปฎิบัติการพัฒนาและขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายสาธารณะด้านยุทธศาสตร์สวนยางยั่งยืน30 เมษายน 2566
30
เมษายน 2566รายงานจากพื้นที่ โดย Kero
  • (ร่าง)แผนยุทธศาสตร์สวนยางยั่งยืนประเทศไทย.docx
circle
วัตถุประสงค์

เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้พร้อมมีแผนความร่วมมือขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับจังหวัด ผลลัพธ์ : แผนความร่วมมือเกษตรยั่งยืนระดับจังหวัด/กลุ่มจังหวัด

circle
กิจกรรมตามแผน

circle
กิจกรรมที่ปฎิบัติรายละเอียดของการทำกิจกรรมที่ได้ปฎิบัติจริง

คณะทำงานระดับจังหวัด/กลุ่มจังหวัดหรือ  เขต กยท. (ใต้บน-ใต้กลาง-ใต้ล่าง)  จัดประชุมปรึกษาหารือเพื่อจัดทำแผนความร่วมมือเกษตรกรรมยั่งยืนระดับจังหวัด
ทั้งนี้บางจังหวัดหรือเขตพื้นที่ กยท.  อาจบูรณาการร่วมกับกิจกรรมตามแผนงานของหน่วยงานในพื้นที่

circle
ผลลัพธ์ที่ตั้งไว้

 

circle
ผลที่เกิดขึ้นจริงผลผลิต (Output) / ผลลัพธ์ (Outcome) / ผลสรุปที่สำคัญของกิจกรรม

(ร่าง) แผนยุทธศาสตร์สวนยางยั่งยืนประเทศไทย พ.ศ....... 1. บทสรุปผู้บริหาร 2. แนวคิดสวนยางยั่งยืนในบริบทประเทศไทย 2.1 สถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสวนยางยั่งยืนในประเทศไทย
ยางพาราและผลิตผลจากยางพารามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิของประเทศไทย สร้างรายได้ให้กับประเทศมากกว่าปีละหลายแสนล้านบาท อย่างไรก็ดีความตกต่ำของราคายางพารา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2554 ส่งผลต่อวิถีชีวิตของเกษตรกรชาวสวนยางมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสถานการณ์ด้านอื่นๆ ที่เกษตรกรชาวสวนยางกำลังเผชิญ เช่น ต้นทุนและปัจจัยการผลิตมีราคาสูงขึ้น ปัญหาขาดแคลนแรงงานและผู้สืบทอดอาชีพ จึงส่งผลทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมแก่เกษตรกรชาวสวนยางโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เกษตรกรที่ปลูกยางแบบเชิงเดี่ยว รวมถึงเกษตรกรรายย่อยและเกษตรกรที่ไม่มีความมั่นคงในพื้นที่ทำกิน นอกจากนี้การทำสวนยางพาราในหลายพื้นที่ยังเชื่อมโยงกับการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้และความหลากหลายทางชีวภาพ เชื่อมโยงสู่นโยบายทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศที่มีความเข้มงวดมากขึ้นในการบังคับใช้นโยบายกีดกันทางการค้าสำหรับสินค้าหรือพื้นที่ที่มีความเสี่ยงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น นโยบบายของสหภาพยุโรปเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า (EU Regulation on Deforestation-free Products) เป็นต้น
ภาครัฐได้มีนโยบายเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง เช่น การพยุงราคายางพารา การประกันรายได้ รวมไปถึงการส่งเสริมให้เกษตรกรมีการปลูกพืชแซมยางและพืชร่วมยาง ตั้งแต่ปี 2535 โดยการปรับเปลี่ยนระบบการปลูกยางให้สามารถปลูกพืชร่วมได้ โดยการให้การสนับสนุนด้านปัจจัยการผลิตและเงินทุนสงเคราะห์บางส่วน แต่ก็พบว่าเกษตรกรชาวสวนยางส่วนใหญ่ยังคงปลูกยางพาราเชิงเดี่ยวแบบเดิม เนื่องจากเกษตรกรชาวสวนยางไม่มีความรู้ในการปลูกพืชแบบอื่น รวมถึงไม่แน่ใจว่าการปลูกพืชแซมยางและพืชร่วมยางจะทำให้ผลผลิตที่ได้รับลดลงหรือไม่ ประกอบกับความยุ่งยากในการจัดการสวนยางพารา (สมบูรณ์ เจริญจิรตระกูล และคณะ, 2557: อ้างใน หฤทัย อินยอด, 2562) หน่วยงานภาครัฐโดยการยางแห่งประเทศไทยยังคงสนับสนุนรูปแบบการทำสวนยางที่มีการปลูกพืชร่วมยางมากขึ้น เพราะเล็งเห็นว่าจะทำให้เกษตรกรสามารถสร้างรายได้จากรูปแบบการผลิตที่หลากหลาย ช่วยเพิ่มความมั่นคงทางอาหาร มีไม้ใช้สอย และยังประโยชน์ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยปัจจุบันมีนโยบายให้เกษตรกรสามารถขอรับการปลูกแทนแบบผสมผสาน โดยสามารถปลูกยางพาราร่วมกับไม้ยืนต้นในระยะปลูกและชนิดพืชที่แนะนำ อย่างไรก็ดียังพบว่ามีเกษตรกรที่ปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าวไม่มากนัก ส่วนใหญ่เกิดในส่วนของนักวิชาการและปราชญ์ชาวบ้าน อีกทั้งการส่งเสริมอย่างจริงจังจากหน่วยงานภาครัฐยังมีน้อย และส่วนหนึ่งเกิดจากทัศนคติของเกษตรกรและข้อจำกัดของครัวเรือน เป็นต้น (หฤทัย อินยอด, 2562)
การขับเคลื่อนระบบสวนยางยั่งยืนในส่วนของเครือข่ายเกษตรกร ภาคประชาสังคม และสถาบันวิชาการรวมทั้งหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้ให้ความสำคัญและร่วมผลักดันระบบสวนยางยั่งยืน ไปพร้อมๆ กับการผลักดันทางนโยบายเกี่ยวกับระบบเกษตรกรรมยั่งยืนโดยมุ่งหวังให้เกษตรกรมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ มีสุขภาวะที่ดี และยังต้องการสร้างสมดุลชีวิตให้กับเกษตรกรในระยะยาวทั้งมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยที่ผ่านมามีการขับเคลื่อนให้หลายๆ ด้าน ทั้งการสร้างความตระหนัก การรณรงค์ การรวบรวมองค์ความรู้และขยายผลรูปธรรม การผลักดันด้านการตลาด และการรวมกลุ่ม ฯลฯ นอกจากนี้ได้ร่วมกันจัดงานสมัชชาสวนยางยั่งยืนขึ้นในประเทศไทยเพื่อรวบรวมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ ความก้าวหน้า ความท้าทายและข้อจำกัดในการดำเนินงานเพื่อผลักดันประเด็นสวนยางยั่งยืนในประเทศไทย และจัดทำข้อเสนอทางนโยบายเพื่อนำเสนอกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ภาคีที่ร่วมในสมัชชาสวนยางยั่งยืนเห็นพ้องกันว่าควรมีการจัดทำยุทธศาสตร์สวนยางยั่งยืนขึ้นเพื่อให้เกิดการดำเนินงานที่มีเอกภาพในการดำเนินงานตั้งแต่ระดับนโยบายจนถึงภาคปฏิบัติในระดับพื้นที่ และเพื่อให้เป็นยุทธศาสตร์ร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในกำหนดเป้าหมายร่วมกัน การสร้างแผนร่วมที่เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานและผสานจุดเด่นและจุดแข็งของภาคีต่างๆ ในการขับเคลื่อนงานทุกระดับ รวมไปถึงการติดตามความก้าวหน้าและการประเมินผลความสำเร็จร่วมกันได้อย่างต่อเนื่อง 
2.2 นิยาม ความหมาย และรูปแบบสวนยางยั่งยืนในประเทศไทย สวนยางพารายั่งยืนมีฐานคิดและรูปแบบที่สอดคล้องกับการทำเกษตรกรรมยั่งยืน (Sustainable Agriculture) ทั้งนี้ข้อมูลจากมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืนและระเบียบนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน พ.ศ.2554 ได้กล่าวถึงนิยามและรูปแบบเกษตรกรรมยั่งยืนไว้ว่า
ระบบเกษตรกรรมยั่งยืน หมายถึง “ระบบการเกษตรที่ครอบคลุมถึงวิถีชีวิตเกษตรกร กระบวนการผลิต และการจัดการทุกรูปแบบ เพื่อให้เกิดความสมดุลทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศ ซึ่งนำไปสู่การพึ่งตนเองและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและผู้บริโภค” โดยมีระบบการเกษตรภายใต้เกษตรกรรมยั่งยืน 5 รูปแบบ ประกอบด้วย
1)เกษตรธรรมชาติ (Natural Farming) หมายถึง ระบบการเกษตรที่ยึดหลักการสำคัญ 4 ประการ ได้แก่ ไม่มีการไถพรวนดิน งดเว้นการใส่ปุ๋ย ไม่กำจัดวัชพืช ไม่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช (ตามแนวทางของมาซาโนบุ ฟูกูโอกะ) 2)เกษตรอินทรีย์ (Organic Agriculture) หมายถึง ระบบการเกษตรที่เน้นความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ โดยเน้นการปรับปรุงบำรุงดิน เคารพต่อศักยภาพทางธรรมชาติของพืช สัตว์ และนิเวศเกษตร เกษตรอินทรีย์จึงลดการใช้ปัจจัยการผลิตจากภายนอกและหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีขณะเดียวกันประยุกต์ใช้ธรรมชาติในการเพิ่มผลผลิตและพัฒนาการต้านทานโรค 3)เกษตรผสมผสาน (Integrated farming) หมายถึง ระบบการเกษตรที่มีการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์หลายชนิดในพื้นที่เดียวกัน โดยที่กิจกรรมแต่ละชนิดเกื้อกูลกันอย่างเป็นวงจร เช่น อาหาร แร่ธาตุ อากาศ พลังงาน เป็นต้น และก่อให้เกิดประโยชน์และประสิทธิภาพสูงสุดต่อระบบฟาร์ม 4)วนเกษตร (Agroforestry) หมายถึง ระบบเกษตรที่ทำในพื้นที่ป่า เช่น ปลูกพืชแซมในพื้นที่ป่าธรรมชาติ นำสัตว์ไปเลี้ยงในป่า เก็บผลผลิตจากป่ามาใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน รวมทั้งการสร้างระบบเกษตรให้มีลักษณะเลียนแบบระบบนิเวศป่าธรรมชาติ คือมีไม้ยืนต้นหนาแน่น มีร่มไม้ปกคลุมและมีความชุ่มชื้นสูง 5)เกษตรทฤษฎีใหม่ (New Theory Agriculture) หมายถึง ระบบการเกษตรที่มีกิจกรรมการผลิตหลายชนิดโดยการแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน 1) ขุดสระกักเก็บน้ำ 30% 2) ปลูกข้าว 30% 3) ปลูกไม้ผลไม้ยืนต้น 30% และ 4) สร้างสิ่งปลูกสร้าง เช่น ที่อยู่อาศัย โรงเรือน เลี้ยงสัตว์ ฉาง 10% ทั้งนี้ ตามความเหมาะสมของสภาพพื้นที่ ลักษณะสำคัญของการเกษตรกรรมยั่งยืน คือ ในแต่ละรูปแบบมีวิธีการจัดการไร่นา เช่น การใช้พืชคลุมดิน การบำรุงดิน และการควบคุมศัตูพืช และการให้ผลประโยชน์ เช่น ความมั่นคงทางอาหาร การจัดการความเสี่ยง มูลค่าเพิ่ม สุขอนามัยผู้ผลิต ที่แตกต่างกันในแต่ละรูปแบบ อย่างไรก็ดีมีจุดเน้นที่เหมือนกันในทุกระบบ คือ เน้นลดผลกระทบการผลิตต่อสิ่งแวดล้อม การฟื้นฟูความสมบูรณ์ของดินและความสมดุลของระบบนิเวศ ทั้งนี้สามารถแบ่งระบบเกษตรกรรมยั่งยืนได้ 2 รูปแบบ ได้แก่ 1) ระบบที่ไม่ใช้สารเคมี ประกอบด้วย เกษตรธรรมชาติ (เน้นการจัดการระบบนิเวศที่สมดุลในไร่นา) และเกษตรอินทรีย์ (เน้นการจัดการดินให้มีความอุดมสมบูรณ์) 2) ระบบเกษตรที่เน้นการจัดการพื้นที่ ประกอบด้วย เกษตรผสมผสาน (เน้นการจัดการที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด) วนเกษตร (เน้นการจัดการป่าไม้ให้ใช้ประโยชน์ร่วมกับเกษตรกรรมได้) เกษตรทฤษฎีใหม่ (เน้นการจัดการที่ดินและน้ำให้เกิดผลผลิตพอเพียงในครัวเรือน) (สำนักวางแผนการเกษตร ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, สภาพัฒน์ฯ 2554) สำหรับนิยามของ “สวนยางยั่งยืน” นั้นยังไม่มีการกำหนดนิยามที่เป็นเอกภาพ แต่รูปแบบที่กล่าวถึงอย่างกว้างขวาง คือ การปรับเปลี่ยนจากสวนยางเชิงเดี่ยวให้เป็นป่ายางที่มีสมดุลนิเวศและเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ การจัดการให้มีต้นยางเพียง 40-44 ต้น/ไร่ จากรูปแบบเดิมที่มี 76-80 ต้น/ไร่ มีการทำปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง การลดใช้สารเคมี มีการปลูกพืชร่วมยาง เช่น ผัก ผลไม้ สมุนไพร ไผ่ ไม้ยืนต้น หรือมีการทำเกษตรผสมผสานอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น การเลี้ยงสัตว์ เลี้ยงผึ้ง ทำฟาร์มเห็ด เป็นต้น (สุนทร รักษ์รงค์, 2563) นอกจากนี้มีการกำหนดนิยามเพื่อส่งเสริมการทำสวนยางยั่งยืนในรูปแบบต่างๆ เอาไว้ เช่น วนเกษตรยางพารา หรือ สวนยางพาราแบบวนเกษตร สวนยางแบบผสมผสาน
สมัชชาสวนยางยั่งยืน ได้ร่วมปรึกษาหารือและกำหนดนิยามสวนยางยั่งยืน เพื่อเป็นฐานในการปรึกษาหารือและขับเคลื่อนงานในอนาคต กล่าวคือ
สวนยางยั่งยืน (Sustainable Rubber Plantation) หมายถึง “นวัตกรรมการจัดการสวนยางเพื่อยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของเกษตรกรชาวสวนยาง ที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม” (มติจากการประชุมสมัชชาสวนยางยั่งยืน ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2565) ทั้งนี้ตัวชี้วัดสำคัญในการประเมินความสำเร็จของระบบสวนยางยั่งยืน ตามข้อเสนอของสมัชชาสวนยางยั่งยืน ให้พิจารณา 3 องค์ประกอบหลัก คือ คุณภาพชีวิต รายได้ และความสุข ของเกษตรกร
2.3 พัฒนาการสมัชชาสวนยางยั่งยืนประเทศไทย
3. สถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและสนับสนุนสวนยางยั่งยืนในประเทศไทย
4. ยุทธศาสตร์สวนยางยั่งยืน 4.1 วิสัยทัศน์
“สวนยางพารายั่งยืน เป็นนวัตกรรมและกลไกขับเคลื่อนที่สำคัญต่อเศรษฐกิจ สังคม การพัฒนาคุณภาพชีวิต และการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนของเกษตรกรผู้ทำสวนยางพาราในประเทศไทย”
สวนยางยั่งยืน (Sustainable Rubber Plantation) หมายถึง “นวัตกรรมการจัดการสวนยางเพื่อยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของเกษตรกรชาวสวนยาง    ที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม” (มติจากการประชุมสมัชชาสวนยางยั่งยืน ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2565) 4.2 เป้าหมายการพัฒนา ระยะ 5 ปี
1) ปรัชญาและแนวทางการทำสวนยางยั่งยืนที่เหมาะสมกับภูมินิเวศท้องถิ่น ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมและขยายผลในทุกภูมิภาคของประเทศ 2) องค์กรและสถาบันที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสวนยางอย่างยั่งยืนมีความเข้มแข็ง สามารถดำเนินงานอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ 3) เกิดการบูรณาการยุทธศาสตร์และแผนงานร่วมกันระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักในการส่งเสริมและสนับสนุนการทำสวนยางยั่งยืน
4) เกิดการปรับปรุงกฎระเบียบและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา การสนับสนุน และกลไกด้านการตลาดที่เกี่ยวข้องกับการทำสวนยางยั่งยืน
4.3 ประเด็นยุทธศาสตร์และแผนงาน ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาองค์ความรู้และจัดการเรียนรู้การทำสวนยางยั่งยืน (Collection, documentation and transferring of knowledge) เป้าประสงค์ 1)การจัดการองค์ความรู้เกี่ยวกับการทำสวนยางยั่งยืนที่ครอบคลุมตั้งแต่แนวคิด รูปแบบที่สอดคล้องกับทุกภูมินิเวศ และตอบสนองต่อความต้องการของเกษตรกรและสนับสนุนความเป็นเอกภาพในการขับเคลื่อนงานสวนยางยั่งยืน
2)การถ่ายทอดความรู้ที่หลากหลายแก่กลุ่มเป้าหมายหลักที่ครอบคลุมทั้งกลุ่มเกษตรกรรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ กลุ่มผู้สนับสนุน และผู้กำหนดนโยบายในระดับต่างๆ และมีกลไกสนับสนุนให้สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปสู่การปฏิบัติจริง ตัวชี้วัด
-จำนวนและประเด็นองค์ความรู้ที่มีการรวบรวมหรือทำวิจัยมีความครอบคลุมทุกภูมินิเวศ -ความหลากหลายของคู่มือและหลักสูตรการฝึกอบรมที่จัดทำขึ้นสำหรับกลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่ม
-จำนวนและความหลากหลายของผู้ผ่านการอบรม และผลการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่หรือในหน่วยงานหรือองค์กร
แผนงาน 1)การรวบรวมและพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับสวนยางยั่งยืนในประเด็นที่สำคัญ ทั้งองค์ความรู้ที่มีอยู่แล้ว และองค์ความรู้ที่จำเป็นต้องสร้างขึ้นใหม่ผ่านการวิจัย เช่น รูปแบบสวนยางที่มีความเหมาะสมกับแต่ละภูมินิเวศ พันธุ์ยาง ธนาคารน้ำใต้ดิน มิติทางเศรษฐศาสตร์จากสวนยางยั่งยืน ฯลฯ 2)การจัดทำคู่มือหรือแนวทางเกี่ยวกับการทำสวนยางยั่งยืน ที่ครอบคลุมประเด็นและรูปแบบต่างๆ ของการทำสวนยางยั่งยืน สำหรับใช้ในกระบวนการฝึกอบรมและเผยแพร่แก่เกษตรกรที่สนใจผ่านกลไกของสมัชชาหรือหน่วยงานหลักต่างๆ 3)การพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมและจัดอบรมในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำสวนยางยั่งยืน สำหรับกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญ ประกอบด้วย เกษตรกร (สถาบันเกษตรกร) เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานภาครัฐ (รวมถึงเจ้าหน้าที่ กยท.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง โดยมีรูปแบบการฝึกอบรมที่หลากหลายขึ้นอยู่กับลักษณะของกลุ่มเป้าหมายและสถานการณ์ ผสมผสานทั้งแบบออนไซต์และออนไลน์เพื่อให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากแต่มีคุณภาพ มีกลไกการติดตามหรือสนับสนุนผู้ผ่านการอบรมให้สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปสู่การปฏิบัติจริงในพื้นที่หรือหน่วยงานของตนเอง
4)การพัฒนาหลักสูตรและจัดอบรมให้แก่เกษตรกรรุ่นใหม่ โดยคำนึงถึงกระบวนการและรูปแบบการถ่ายทอดความรู้ที่เหมาะสมกับคนรุ่นใหม่ เพื่อสร้างความเข้าใจ แรงบันดาลใจ และแนวทางในการต่อยอดและสืบทอดการทำสวนยางยั่งยืน รวมทั้งมีกลไกการติดตามหรือสนับสนุนผู้ผ่านการอบรมให้สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปสู่การปฏิบัติจริงในพื้นที่ ยุทธศาสตร์ที่ 2 การเสริมสร้างความเข้มแข็งองค์กรและสถาบันเพื่อขับเคลื่อนงานสวนยางยั่งยืน (Strengthening of organization and institution) เป้าประสงค์ 1)การตั้งสมาคมหรือมูลนิธิสวนยางยั่งยืนระดับชาติที่มีการกำหนดโครงสร้างการดำเนินงาน บทบาทหน้าที่ รวมทั้งกลไกการสื่อสาร การสนับสนุนและติดตามการดำเนินงานร่วมกันอย่างชัดเจน เพื่อความต่อเนื่องและความก้าวหน้าของการขับเคลื่อนประเด็นยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้ 2)มีฐานข้อมูลและกลไกกองทุนเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง
ตัวชี้วัด -โครงสร้างและแนวทางขับเคลื่อนงานของสมัชชาในทุกระดับ -ฐานข้อมูลและกลไกกองทุน และการใช้ประโยชน์จากระบบฐานข้อมูลและกองทุน
แผนงาน 1)การพัฒนาสมัชชาหรือสมาคมสวนยางยั่งยืนระดับชาติ ที่มีความชัดเจนทั้งด้านโครงสร้าง บทบาทหน้าที่ และบุคลากรที่เป็นตัวแทนในทุกๆ ระดับ ทั้งนี้เน้นโครงสร้างการดำเนินงานและกลไกการตัดสินใจแบบแนวราบหรือแนวระนาบ
2)การจัดประชุมสมัชชาสวนยางยั่งยืน ทั้งการประชุมใหญ่ประจำปี การประชุมในระดับเขตหรือระดับพื้นที่ เพื่อทบทวนบทเรียนและความก้าวหน้าการดำเนินงาน รวมทั้งการวางแผนดำเนินงานร่วมกัน 3)การจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับสมาชิกสมัชชาฯ รวมทั้งชุดข้อมูลและชุดความรู้ที่สำคัญเกี่ยวกับสวนยางยั่งยืน (เช่น มีพื้นที่ต้นแบบ มีศูนย์เรียนรู้ มีปราชญ์ชุมชนอยู่ที่ไหนบ้าง มีงานวิจัยอะไรบ้าง เป็นต้น) ที่เป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนงานในทุกๆ ระดับ
4)การจัดทำกองทุนสวนยางยั่งยืน/สวนยางสีเขียว ที่ประกอบด้วยองค์กรและบุคลากรเพื่อการบริหารจัดการกองทุนที่ชัดเจนและเป็นกลไกการบริหารจัดการกองทุนที่มีความยั่งยืน เช่น ในรูปแบบของมูลนิธิ หรือองค์กรทางธุรกิจในลักษณะวิสาหกิจเพื่อสังคม
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Enhance communication, sharing and learning of stakeholders) เป้าประสงค์ 1)สร้างความตระหนักให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักและคนในสังคมถึงความสำคัญของสวนยางยั่งยืน  และมีความเข้าใจการดำเนินงานของสมัชชาสวนยางยั่งยืน 2)มีเวทีและช่องทางการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร การเรียนรู้และถอดบทเรียนร่วมกันระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งในด้านการส่งเสริมสนับสนุนการทำสวนยางยั่งยืนและด้านการตลาด


ตัวชี้วัด -ความเข้าใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักและคนในสังคมเกี่ยวกับผลประโยชน์ของสวนยางยั่งยืนทั้งใน ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งความเข้าใจแนวคิดและแนวทางการขับเคลื่อนงานของสมัชชาสวนยางยั่งยืน -จำนวนและความหลากหลายของหน่วยงานที่เข้ามาร่วมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และร่วมสนับสนุนการดำเนินงานของสมัชชาสวนยางยั่งยืนเพิ่มมากขึ้น -เกษตรกรและกลุ่มวิสาหกิจที่เกี่ยวกับสวนยางยั่งยืนที่สามารถเข้าถึงตลาดและกลุ่มผู้ซื้อที่สนับสนุนผลิตภัณฑ์จากระบบสวนยางยั่งยืนเพิ่มมากขึ้น แผนงาน 1)การจัดทำสื่อและการเผยแพร่ข้อมูลในรูปแบบที่หลากหลาย เพื่อการสื่อสารข้อมูลกับกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ เกษตรกร ผู้กำหนดนโยบาย เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง แหล่งทุน รวมทั้งคนรุ่นใหม่และสาธารณะชนหรือผู้สนใจทั่วไป ให้เห็นความสำคัญของการทำสวนยางยั่งยืน และเข้าใจแนวคิดและการดำเนินงานของสมัชชาสวนยางยั่งยืน
2)การจัดทำแอปพลิเคชั่นเชิงธุรกิจหรือแพลตฟอร์มสวนยางยั่งยืน เพื่อเป็นแพลตฟอร์มกลางทางการตลาด (marketing platform) ที่เชื่อมโยงระหว่างเกษตรกร/ผู้ผลิต กับผู้ซื้อและภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง
3)การจัดทำเวทีวิชาการด้านสวนยางยั่งยืน ทั้งในระดับภูมิภาค ระดับประเทศ และระดับนานาชาติ เพื่อเป็นเวทีกลางที่สร้างการแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ การถอดบทเรียนและองค์ความรู้ ระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องทุกๆ ระดับ รวมทั้งกับแลกเปลี่ยนประเด็นด้านการตลาดกับกลุ่มผู้ซื้อ ยุทธศาสตร์ที่ 4 การสร้างพื้นที่ต้นแบบหรือพื้นที่รูปธรรมเกี่ยวกับสวนยางยั่งยืน (Developing best practice model or innovative model)
เป้าประสงค์ 1)สร้างพื้นที่ต้นแบบและศูนย์เรียนรู้ด้านสวนยางยั่งยืนให้ครอบคลุมทุกภูมินิเวศและลักษณะพื้นที่ (ให้เกิดชุมชนสวนยางยั่งยืน) 2)มีการถ่ายทอดนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ และแนวทางการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ในสวนยาง ที่พัฒนาขึ้นโดยหน่วยงานต่างๆ ลงสู่ระดับพื้นที่ 3)เกิดแนวทางความร่วมมือระดับพื้นที่เพื่อการส่งเสริมและสนับสนุนสวนยางยั่งยืน
ตัวชี้วัด -รูปแบบและผลการดำเนินการพื้นที่ต้นแบบและศูนย์เรียนรู้ในแต่ละภูมินิเวศ และรูปแบบของพื้นที่ต้นแบบที่ดำเนินการโดยคนรุ่นใหม่ -จำนวนพื้นที่และจำนวนครัวเรือนที่ได้รับการถ่ายทอดนวัตกรรมและเทคโนโลยี และผลจากการนำนวัตกรรมไปดำเนินการในพื้นที่ของเกษตรกร
-จำนวนแผนแม่บทและความหลากหลายของภาคีความร่วมมือที่เข้าร่วมในกระบวนการ -เอกสารสรุปบทเรียนกระบวนการสร้างพื้นที่ต้นแบบ ศูนย์เรียนรู้ การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการจัดทำแผนแม่บท เพื่อเป็นข้อมูลสู่การขยายผลหรือจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายต่อไป แผนงาน -การสร้างพื้นที่ต้นแบบและศูนย์การเรียนรู้ด้านสวนยางยั่งยืน ในระดับเขตพื้นที่หรือระดับจังหวัด ให้มีความครอบคลุมทุกภูมินิเวศและทุกลักษณะของพื้นที่ (รวมพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ พื้นที่ในเขตป่าไม้ เช่น คทช.) ทั้งแปลงต้นแบบที่กยท.สนับสนุน รวมทั้งมีพื้นที่ต้นแบบที่ดำเนินการโดยเกษตรกรรุ่นใหม่ และเชื่อมโยงเรื่องคาร์บอนเครดิต
-การถ่ายทอดนวัตกรรมและเทคโนโลยีลงสู่ระดับพื้นที่ ทั้งนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการสวน รวมไปถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์และเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์จากระบบสวนยางยั่งยืน เช่น นวัตกรรมและเทคโยโลยีที่พัฒนาโดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสถาบันวิชาการต่างๆ ในระดับภูมิภาคหรือระดับประเทศ -การจัดทำแผนแม่บทการขับเคลื่อนสวนยางยั่งยืน ในระดับเขตพื้นที่หรือระดับจังหวัด เพื่อสนับสนุนให้หน่วยงานและภาคีความร่วมมือในระดับพื้นที่พัฒนาเป้าหมายและแนวทางร่วมกันในการขับเคลื่อนงานสวนยางยั่งยืนในระยะยาว และใช้เป็นเครื่องมือในการบูรณาการความร่วมมือและการสนับสนุนจากหน่วยงานหลักให้มีความต่อเนื่อง


ยุทธศาสตร์ที่ 5 การเพิ่มประสิทธิภาพกลไกสนับสนุนการทำสวนยางยั่งยืน (Increase efficiency of supporting mechanisms) เป้าประสงค์ 1)เกิดกลไกระดับชาติที่มีความเข้มแข็งเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนงานด้านสวนยางยั่งยืน 2)มีกลไกการรับรองมาตรฐานสวนยางยั่งยืนที่เหมาะสมกับเกษตรกรรายย่อยในประเทศไทย ตัวชี้วัด -กลไกของภาครัฐที่มีการพัฒนาหรือปรับปรุงเพื่อการส่งเสริมสนับสนุนงานสวนยางยั่งยืนในระยะยาว -ยุทธศาสตร์และแผนงานที่มีการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลัก -สัดส่วนของเกษตรกรรายย่อยที่เข้าถึงและได้รับการรับรองมาตรฐานเพิ่มมากขึ้น แผนงาน 1)การผลักดันกลไกระดับชาติของภาครัฐ ประกอบด้วย ให้มีตัวแทนสมัชชาสวนยางยั่งยืนอยู่ในกลไกของคณะกรรมการระดับประเทศ (เช่น คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.)) หรือมีคณะอนุกรรมการด้านสวนยางยั่งยืนที่ประกอบด้วยตัวแทนจากทุกภาคส่วน รวมทั้งการผลักดันประเด็นสวนยางยั่งยืนเป็นวาระแห่งชาติหรืออยู่ในยุทธศาสตร์ระดับชาติ
2)การบูรณาการยุทธศาสตร์และแผนงานร่วมกับหน่วยงานและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการสร้างพื้นที่รูปธรรม การวิจัย หรือการพัฒนานวัตกรรม ที่ต้องมีการกำหนดเป้าหมายร่วมและกระบวนการสนับสนุนในระยะยาว หน่วยงานที่สำคัญ เช่น กยท. สปก. รวมทั้งหน่วยงานด้านทรัพยากรน้ำ 3)การผลักดันให้เกิดการปรับปรุงกฎระเบียบหรือนโยบายที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กฎระเบียบและแนวทางการสนับสนุนจากการยางแห่งประเทศไทย นโยบายที่เกี่ยวข้องของกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมทรัพยากรน้ำ และกระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น
4)การพัฒนาและส่งเสริมกลไกรับรองมาตรฐานสำหรับการทำสวนยางยั่งยืน โดยอิงมาตรฐานทั้งที่มีอยู่แล้วภายในประเทศ และมาตรฐานสากล

circle
กิจกรรมตามแผน
circle
ประเมินความสำเร็จของการดำเนินกิจกรรม

บรรลุผลตามเป้าหมาย (3)

circle
กลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วม
จำนวน 13 คน จากที่ตั้งไว้ 13 คน
ประกอบด้วย

แกนนำเกษตรกรภาคใต้ตอนกลางและเกษตร 4 ภาค

circle
ปัญหา/แนวทางแก้ไข
circle
ชื่อผู้ติดตามในพื้นที่ของ
circle
ข้อเสนอแนะต่อ
circle
ข้อเสนอแนะต่อพื้นที่