โครงการบูรณาการกลไกสร้างเสริมสุขภาวะระดับตำบลและอำเภอ เขต 10
กิจกรรม/ประชุม: การประชุมเชิงปฏิบัติการ “พัฒนาศักยภาพทีมพี่เลี้ยงระดับตำบล เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การเขียนแผนการพัฒนาโครงการและติดตามประเมินผลในระบบเว็บไซต์”
วัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรม: เพื่อสรุปผลการดำเนินงานจัดทำแผน และโครงการของกองทุนตำบล ปี 2566 เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การจัดทำแผนและพัฒนาโครงการกองทุนตำบล ปี 2566 และเพื่อวางแผนการจัดทำแผน และโครงการของกองทุนตำบล ปี 2567
กิจกรรมนี้เกี่ยวข้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการข้อที่: ข้อที่ 2
และตัวชี้วัดผลงานของโครงการข้อที่: ข้อที่ 4
ผู้เข้าร่วมกิจกรรม/ประชุม จำนวน 35 คน ประกอบด้วย
1) พี่เลี้ยงกองทุนตำบล อำเภอม่วงสามสิบ
2) วิทยากร
3) คณะทำงาน
รายละเอียดการจัดกิจกรรม - เวลา 14.00 - 14.30 น. กล่าวต้อนรับพร้อมรายงานผลการพัฒนาแผนงานและการพัฒนาโครงการและการนำประเด็นไปสู่แผนของพชอ.กองทุนตำบลปี 2566 (ภาพรวมของอำเภอ) โดย นายอลงกต ตังคะวานิช สาธารณสุขอำเภอเขื่องใน - เวลา 14.30 - 15.00 น. ชี้แจงวัตถุประสงค์ และกระบวนการในการประชุม โดย นางสาวจงกลนี ศิริรัตน์ คณะทำงานรับผิดชอบโครงการพื้นที่เขต 10 - เวลา 15.00 - 15.30 น. กระบวนการแลกเปลี่ยนบทเรียนการพัฒนาโครงการที่ดีและแผนที่ดีของกองทุน 5 ตำบล ๆ ละ 6 นาทีตัวแทนคณะทำงานพี่เลี้ยงกองทุนตำบลกองทุนเหล่าบก/ดุมใหญ่/หนองเหล่า/ยางสักกะโพหลุ่มและยางโยภาพ โดยมีประเด็นในการชวนแลกเปลี่ยน คือ 1. ผลการพัฒนาแผน และการเขียนโครงการ ปี 2566 2. แผนและโครงการที่ได้รับการอนุมัติจากกองทุน ในปี 2566 3. ประเมินผลลัพธ์การเปลี่ยนแปลงสุขภาวะของประชาชนในพื้นที่ 4. การเรียนรู้ การจัดทำแผน และการพัฒนาโครงการ และ5. ปัญหาอุปสรรค และข้อเสนอแนะ - เวลา15.30 - 16.30 น. ทบทวนและนำเสนอข้อมูลความคืบหน้าการพัฒนาโครงการและแผนงานติดตามและสรุปผลการพัฒนาโครงการในระบบเว็บไซต์ โดย อาจารย์อภิรดี ดอนอ่อนเบ้า มหาวิทยาลัยกาฬสินธิ์ และนายรพินทร์ ยืนยาว พี่เลี้ยงระดับเขต - เวลา16.30 -17.00 น. ร่วมแลกเปลี่ยน/ข้อเสนอแนะการพัฒนาโครงการและแผนงาน โดย คุณจินดาวรรณ รามทอง คณะทำงานโครงการ จากสถาบันนโยบายสาธารณะ ม.สงขลาฯ
• จากการดำเนินงานในเวที พบปัญหาอุปสรรค คือ สถานที่อยู่ในช่วงการปรับปรุงอาคาร และเจ้าหน้าที่ติดภารกิจด่วนทำให้กระบวนการในเวทีเกิดความล่าช้า ไม่เป็นไปตามแผนที่ตั้งไว้ แต่ได้มีการปรับแผน เป็นการชวนพี่เลี้ยงตำบลทบทวนการเก็บข้อมูลสถานการณ์สุขภาพในพื้นที่ และการกรอกข้อมูลลงในระบบเว็บไซต์ เนื่องจากพี่เลี้ยงยังไม่ต้องกรอกข้อมูลในระบบ จากนั้นได้เติมเต็มข้อมูลร่วมกัน ทำให้พี่เลี้ยงมีความเข้าใจมากขึ้น และได้ทบทวนการใช้งานระบบเว็บไซต์ และแนวทางการนำข้อมูลสถานการณ์สุขภาพในพื้นที่มาพัฒนาแผนงานในปี 2567
• จากกระบวนการแลกเปลี่ยนบทเรียนการพัฒนาโครงการที่ดีและแผนที่ดีของกองทุน 5 ตำบล ได้สอดคล้องกับตัวชี้วัดของโครงการ ในข้อ 4 คือ พี่เลี้ยงมีทักษะในการทำแผน การพัฒนาโครงการ และการติดตามประเมินผลโครงการ ของกองทุนฯ
โดย พี่เลี้ยงได้เกิดความรู้ความเข้าใจถึงการใช้งานในระบบเว็บไซต์ และ สามารถนำข้อมูลสถานการณ์ มาพัฒนาแผน ปี 2567 ได้ดังนี้
- ตำบลเหล่าบก จากการทบทวนการพัฒนาแผนงานในปี 2566 ได้มีการพัฒนาแผนงาน 15 แผนงาน ได้รับการอนุมัติ 12 โครงการ ในปี 2567 ได้พัฒนาแผนงาน 12 แผนงาน ซึ่งครอบคลุมทั้ง 8 ประเด็น เป้าหมายยุทธศาสตร์ การพัฒนาสุขภาวะ ซึ่งพื้นที่ตำบลเหล่าบกเป็นพื้นที่ที่มีความเข้าใจระบบ และแนวทางการเก็บข้อมูลสถานการณ์สุขภาพในพื้นที่มาพัฒนาเป็นแผนงาน เลยให้พี่เลี้ยงตำบลเหล่าบกช่วยดูแล และแนะนำพี่เลี้ยงกองทุนอื่น ๆ ร่วมด้วย
- ตำบลดุมใหญ่ ในปี 2566 พัฒนาแผนงานได้ 13 แผนงาน วิทยากรได้ชวนทบทวน ถึงการพัฒนาแผนที่สอดคล้องกับข้อมูลสถานการณ์สุขภาพในพื้นที่ และได้ทดลองพัฒนาแผนงานในปี 2567 ได้ 1 แผน เนื่องจากการเก็บข้อมูลในพื้นที่ยังไม่สมบูรณ์
- ตำบลหนองเหล่า ในปี 2566 ได้มีการพัฒนาแผนงานไปทั้งหมด 11 แผนงาน พัฒนาโครงการ ไป 4 โครงการ แต่ยังไม่ได้ยื่นเสนอ วิทยากรได้ชวนทบทวน และแนะนำการเก็บข้อมูลสถานการณ์ในระบบเว็บไซต์ ทำให้พีเลี้ยงเข้าใจมากขึ้น และมีแผนในการเก็บข้อมูลต่อไป
- ตำบลยางสักกระโพหลุ่ม ในปี 2566 ได้มีการพัฒนาแผนงานไปทั้งหมด 11 แผนงาน ดำเนินโครงการอยู่ 1 โครงการ อีก 3 โครงการกำลังพัฒนา วิทยากรได้ชวนทบทวน และแนะนำการเก็บข้อมูลสถานการณ์ในระบบเว็บไซต์ ทำให้พีเลี้ยงเข้าใจมากขึ้น และมีแผนในการเก็บข้อมูลต่อไป
- ตำบลยางโยภาพ ในปี 2566 ได้มีการพัฒนาแผนงานไปทั้งหมด 6 แผนงาน ได้รับอนุมัติ 1 โครงการ วิทยากรได้ชวนทบทวน และแนะนำการเก็บข้อมูลสถานการณ์ในระบบเว็บไซต์ ทำให้พีเลี้ยงเข้าใจมากขึ้น และมีแผนในการเก็บข้อมูลต่อไป
จากการทำเนินงาน และแลกเปลี่ยนพบว่า พี่เลี้ยงกองทุนตำบล อำเภอม่วงสามสิบยังขาดความเข้าใจในการเก็บข้อมูลในระบบเว็บไซต์ และการดึงเอาข้อมูลสถานการณ์สุขภาพในพื้นที่ มาพัฒนาแผนงาน วิทยากรและคุณจินดาวรรณ รามทอง คณะทำงานโครงการ จากสถาบันนโยบายสาธารณะ ม.สงขลาฯ จึงได้ช่วยเติมเต็มข้อมูลสร้างความเข้าใจ และชวนวางแผนในการเก็บข้อมูล และการนำข้อมูลมาพัฒนาแผน