การประเมินผลกระทบทางสุขภาพ กรณีศึกษา โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ (Public Assessing)
ศึกษาเอกสาร และสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้อง
ได้ข้อมูลตามประเด็นการประเมิน การประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ (public assessing) ด้วยการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก (in-depth interview) และการสนทนากลุ่ม (focus group) ดังนี้
ระดับตำบล จะพิจารณาการเกิดแผนงานหรือโครงการระดับตำบล ประกอบด้วย
1.1 การจัดทำข้อมูลผู้สูงอายุระดับตำบล มีการจัดทำข้อมูลผู้สูงอายุ 2 รูปแบบ คือ รูปแบบระบบฐานข้อมูลของหน่วยบริการสาธารณสุขหรือ รพ.สต. โดยใช้ฐานข้อมูลโปรแกรม HCIS และมีการจัดทำข้อมูลผู้สูงอายุที่เป็นสมาชิกชมรมผู้สูงอายุและโรงเรียนผู้สูงอายุ ซึ่งผู้สูงอายุทุกคนจะมีสมุดประจำตัวเพื่อบันทึกข้อมูลด้านสุขภาพและข้อมูลสำคัญต่างๆ 1.2 จำนวนแผนงานหรือโครงการที่ได้รับการสนับสนุนและดำเนินการจากงบประมาณกองทุนระดับตำบล พบว่า ทั้ง 2 อำเภอยังไม่มีข้อมูลจำนวนโครงการเกี่ยวกับผู้สูงอายุที่แน่นอน แต่เบื้องต้นพบว่า มีโครงการเกี่ยวกับผู้สูงอายุจำนวน 64 โครงการ โดยอำเภอคีรีรัฐนิคมซึ่งมีกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น จำนวน 9 กองทุน จะมีโครงการเกี่ยวกับผู้สูงอายุอย่างน้อยกองทุนละ 3 โครงการ คือ โครงการเกี่ยวกับ long term care โครงการเกี่ยวกับกายอุปกรณ์ และโครงการเกี่ยวกับศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ (day care) ประกอบกับโครงการเกี่ยวกับรงเรียนผู้สูงอายุ จำนวน 3 โครงการ รวมเป็นอย่างน้อย จำนวน 30 โครงการ สำหรับอำเภอบ้านนาสารซึ่งมีกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น จำนวน 11 กองทุน จะมีโครงการเกี่ยวกับชมรมผู้สูงอายุอย่างน้อย จำนวน 11 โครงการ โครงการเกี่ยวกับโรงเรียนผู้สูงอายุ จำนวน 11 โครงการ โครงการเกี่ยวกับ long term care จำนวน 11 โครงการ โครงการมหกรรมสุขภาพผู้สูงอายุจำนวน 1 โครงการ รวมเป็นอย่างน้อย จำนวน 34 โครงการ 1.3 การบูรณาการแผนงานหรือโครงการผู้สูงอายุในชุมชน มุ่งเน้นให้องค์กรชุมชนเป็นผู้เขียนโครงการของบประมาณเพื่อนำไปจัดทำโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ โดยมีคณะอนุกรรมการกลั่นกรอง คณะอนุกรรมการติดตามและประเมินผล และเจ้าหน้าที่ รพ.สต. รับผิดชอบในการเป็นพี่เลี้ยงและสนับสนุน พร้อมทั้งจัดเตรียมเอกสารคำแนะนำเกี่ยวกับรายละเอียด ขั้นตอนการบริหารโครงการ (อบต.น้ำหัก) เพื่อให้องค์กรชุมชนดำเนินโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ มีการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับตำบล (พชต.) เพื่อนำเสนอปัญหาจากพื้นที่ โดยเฉพาะอำเภอบ้านนาสารมีการลงพื้นที่จัดทำแผนที่เดินดินโดย อสม.และผู้ใหญ่บ้าน เพื่อค้นหาปัญหาภายในพื้นที่และรวบรวมเป็นประเด็น พชต.ต่อไป 1.4 คุณภาพโครงการเกี่ยวกับผู้สูงอายุ เริ่มต้นการดำเนินงานในยุคแรกเริ่ม รพ.สต.จะเป็นผู้เขียนโครงการให้กับองค์กรชุมชนนำไปขอรับงบประมาณ แต่หลังจากนั้นมีการส่งต่อรูปแบบโครงการให้กับองค์กรชุมชนไปจัดทำเพื่อขอสนับสนุนงบประมาณด้วยตนเอง โดยมีเจ้าหน้าที่จาก รพ.สต.เป็นพี่เลี้ยง ให้คำปรึกษา และควบคุมคุณภาพของโครงการ เช่น พื้นที่อำเภอคีรีรัฐนิคมมีการจัดทำข้อตกลงเบื้องต้นว่า “หากทำโครงการดูแลผู้สูงอายุกลุ่มติดสังคมอย่างเดียวจะไม่อนุมัติโครงการให้ โดยโครงการจะต้องไปดูแลผู้สูงอายุกลุ่มติดบ้าน-ติดเตียงด้วย” และ “โครงการที่ขอสนับสนุนงบประมาณต่อเนื่อง จะต้องมีกิจกรรมที่นอกเหนือจากกิจกรรมที่เคยทำมาในปีที่ผ่านมา” ซึ่งถือเป็นมาตรการในการควบคุมคุณภาพโครงการอีกทางหนึ่ง 1.5 ปัจจัยแห่งความสำเร็จ พบว่า ขึ้นอยู่กับการสนับสนุนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น อบต. เทศบาล สสอ. รพ.สต. ผู้นำชุมชน เป็นต้น ดังจะเห็นได้จากการดำเนินงานโรงเรียนผู้สูงอายุในอำเภอบ้านนาสาร ในระยะเริ่มต้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่ให้ความสำคัญจึงทำให้การดำเนินงานเป็นไปค่อนข้างล่าช้า แต่เมื่อผลการดำเนินงานของโรงเรียนผู้สูงอายุเป็นที่น่าพึงพอใจ หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจึงให้การสนับสนุน ส่งผลให้การดำเนินงานโรงเรียนผู้สูงอายุดำเนินการไปอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ทุนทางสังคมในพื้นที่ยังเป็นปัจจัยสำคัญในการหนุนเสริมให้การดำเนินงานประสบความสำเร็จ เช่น การเชิญชวนผู้สูงอายุที่เป็นข้าราชการเกษียณอายุมาร่วมดำเนินงาน จะช่วยให้การติดต่อประสานงานและการดำเนินงานราบรื่นขึ้น เนื่องจากผู้สูงอายุกลุ่มนี้มีองค์ความรู้ เครือข่าย และประสบการณ์จากการทำงานสูง จึงทำให้งานสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับอุปสรรคในการดำเนินงาน มีเฉพาะการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการเบิกงบประมาณ โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวกับ long term care มักประสบปัญหาในการเบิกจ่ายงบประมาณเนื่องจากความเข้าใจไม่ตรงกันของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติแต่ละหน่วยงาน 1.6 นวัตกรรมหรือปฏิบัติการดีๆ ที่เกิดจากการดำเนินงานเกี่ยวผู้สูงอายุ พบว่า พื้นที่อำเภอบ้านนาสาร มีนวัตกรรม “การถ่ายทอดความรู้จากรุ่นสู่รุ่น” โดยเป็นการใช้บุคคลที่มีอยู่ในชุมชน โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่เป็นข้าราชการเกษียณมาทำประโยชน์ในการแสดงความสามารถตามศักยภาพที่มี หรือเป็นครู หรือเป็นพี่เลี้ยงสอนเรื่องต่างๆ หรือถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ให้กับนักเรียนโรงเรียนผู้สูงอายุจากรุ่นสู่รุ่น สำหรับอำเภอคีรีรัฐนิคม มีนวัตกรรม “3 กองทุนสนับสนุน ระบบสุขภาพทุกกลุ่มวัย” ประกอบด้วย กองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น กองทุน long term care และกองทุนฟื้นฟู โดยแนวทางในการดำเนินการจะเน้นการดูแลสุขภาพของประชาชนทุกกลุ่มวัยร่วมกัน โดยอาศัยงบประมาณและการดำเนินงานจาก 3 กองทุนเป็นหลัก 1.7 การถอดบทเรียนการดำเนินงานศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ (day care) เพื่อนำไปสู่การยกระดับขยายผลในพื้นที่อื่นๆ พบว่า อำเภอคีรีรัฐนิคมมีการดำเนินงานศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ (day care) ภายใต้หลักการคือ “อยากให้ผู้ป่วยและญาติอยู่ใกล้บ้าน ไม่ต้องพักรักษาตัวไกลบ้าน” โดยก่อนหน้านี้ เมื่อมีการเจ็บป่วยทั้งผู้ป่วยและญาติจะต้องไปพักอยู่ที่โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี ส่งผลให้เกิดความยากลำบากและสูญเสียรายได้ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ (day care) จึงได้ก่อตั้งขึ้นเพื่อดูแลผู้ป่วยแบบ intermediate care โดยการรับผู้ป่วยกลับจากโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานีมาพักรักษาที่โรงพยาบาลคีรีรัฐนิคม หรือที่บ้านของผู้ป่วยเอง โดยมีทีมสหวิชาชีพเป็นผู้รับผิดชอบดูแล ทั้งนี้ ดูแลผู้สูงอายุ (day care) มีจำนวน 2 แห่งในปัจจุบัน คือ โรงพยาบาลคีรีรัฐนิคม และ อบต.ท่าขนอน และในปี 2563 จะมีการเปิดเพิ่มเติมที่ อบต.กะเปา นอกจากนี้ การดำเนินงานของศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ (day care) จะต้องมีการประสานความร่วมมือกับกองทุน long term care และกองทุนฟื้นฟูอีกด้วยระดับอำเภอ จะพิจารณาการบูรณาการการดำเนินงานตามประเด็นปัญหาผู้สูงอายุ ในระดับอำเภอ โดยทิศทางการดำเนินงานและการเชื่อมโยงนโยบายด้านผู้สูงอายุของ พชอ. พบว่า ปัจจุบันประเด็นเกี่ยวกับผู้สูงอายุไม่ได้เป็นประเด็นหลักใน พชอ. เนื่องจาก ประเด็นเกี่ยวกับผู้สูงอายุมีการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องจนไม่เป็นปัญหาสำหรับพื้นที่ แต่ทั้งนี้ ยังมีการจัดเป็นประเด็นรองเพื่อให้การดำเนินงานสามารถขับเคลื่อนได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ การดำเนินงานในระดับอำเภอจะเป็นการควบคุมกำกับ สนับสนุน กำหนดนโยบายในการดำเนินงาน และการเยี่ยมเพื่อเสริมพลังเป็นส่วนใหญ่
ระดับจังหวัด จะพิจารณา นโยบาย แผนงาน โครงการผู้สูงอายุระดับจังหวัด และการบูรณาการการดำเนินงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด (พชจ.) สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) เป็นต้น พบว่า มีหน่วยงานหลักที่มีการดำเนินงานเกี่ยวกับผู้สูงอายุ คือ สสจ. และ อบจ. โดย สสจ. มีแนวทางในการดำเนินงานโดยการหาเครือข่ายและบูรณาการการทำงานร่วมกันกับภาคีอื่นๆ โดยมีเป้าหมายที่คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ซึ่งปัจจุบัน สสจ. ได้ประสานการทำงานร่วมกับ อบจ. เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ โดยมีการจัดทำแผนระดับจังหวัดร่วมกันในการผลักดันงานคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ รวมถึงมีการส่งเสริม ชี้ช่องทางหางบประมาณในการดำเนินงาน เช่น งบจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น งบจากกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น เพื่อนำมาใช้ในการดำเนินงานพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ และยังมีแนวคิดเพิ่มกิจกรรมให้กับผู้สูงอายุติดสังคมให้มีกิจกรรมทำร่วมกันมากขึ้นด้วย นอกจากนี้ อบจ.ยังมีแผนยุทธศาสตร์เกี่ยวกับการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุ โดยมีการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูเพื่อสนับสนุนงบประมาณสำหรับการดูแลผู้สูงอายุกลุ่มติดบ้าน ติดเตียง พิการ หรือทุพลภาพอีกด้วย
ระดับเขตสุขภาพ จะพิจารณาการยกระดับงานผู้สูงอายุเป็นงานในระดับเขตสุขภาพ ประกอบด้วย นโยบายหรือแผนงานผู้สูงอายุระดับเขตสุขภาพ พบว่า ประเด็นเกี่ยวกับผู้สูงอายุ เป็น 1 ใน 4 ประเด็นของยุทธศาสตร์การดำเนินงานของเขตสุขภาพ แต่ยังไม่มีข้อมูลที่บ่งบอกถึงความเชื่อมโยงจากการดำเนินงานระดับพื้นที่ เนื่องจาก ประเด็นเกี่ยวกับผู้สูงอายุเป็นนโยบายจากส่วนกลางที่เขตสุขภาพจะต้องดำเนินการตามนโยบายด้วย
เครือข่ายการทำงาน จะพิจารณาการเกิดเครือข่ายการทำงานเกี่ยวกับผู้สูงอายุ ประกอบด้วย การสร้างรูปแบบความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายที่มาหนุนเสริมการดำเนินงานผู้สูงอายุ ทั้งระดับตำบล อำเภอ จังหวัด และเขตสุขภาพ เช่น เครือข่ายภาครัฐ ท้องถิ่น ภาคเอกชน ภาคประชาชน เครือข่ายทางด้านจิตใจ สมาธิ (มิติทางด้านศาสนา) หน่วยงานภาครัฐระดับอำเภอ (ที่นอกเหนือจากคณะกรรมการ) เป็นต้น พบว่า การดำเนินงานเกี่ยวกับผู้สูงอายุจะเป็นการดำเนินงานในระดับพื้นที่เกือบทั้งหมด คือ การปฏิบัติการในระดับตำบลและการควบคุมกำกับ สนับสนุน เยี่ยมเสริมพลังในระดับอำเภอ สำหรับการเชื่อมโยงนโยบายหรือการผลักดันให้เกิดการดำเนินงานในระดับที่สูงขึ้นไป คือ ระดับจังหวัดและระดับเขตสุขภาพ พบว่า ยังไม่มีข้อมูลที่บ่งบอกถึงความเชื่อมโยง มีเพียงแค่ข้อมูลที่บ่งบอกถึงการบรรจบกันของนโยบายจากส่วนกลางและการดำเนินงานในระดับพื้นที่ที่มีความตรงหรือเป็นเรื่องเดียวกันเท่านั้นเอง ทั้งนี้ อาจมีเพียงแค่การนำนวัตกรรมหรือการดำเนินงานที่ประสบผลสำเร็จไปขยายต่อในพื้นที่อื่น เช่น การขยายการดำเนินงานโรงเรียนผู้สูงอายุไปสู่อำเภออื่นๆ จนทำให้ปัจจุบันจังหวัดสุราษฎร์ธานีมีโรงเรียนผู้สูงอายุจำนวน 38 โรง การขยายการดำเนินงานกองทุนกายอุปกรณ์ไปสู่อำเภออื่นๆ เช่น อำเภอบ้านนาสาร เป็นต้น สำหรับรูปแบบการมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ พบว่า อำเภอบ้านนาสารและอำเภอคีรีรัฐนิคม มีรูปแบบการมีส่วนร่วมที่คล้ายคลึงกัน แตกต่างเพียงแค่รูปแบบกิจกรรมที่ดำเนินการ คือ อำเภอบ้านนาสาร ดำเนินการโดยเน้นผู้สูงอายุกลุ่มติดสังคม โดยมุ่งเน้นพัฒนาให้เกิดชมรมผู้สูงอายุคุณภาพและโรงเรียนผู้สูงอายุ โดยมีหน่วยงานภายนอกเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการ ประกอบด้วย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และกระทรวงมหาดไทยมีส่วนร่วมในการดูแลเกี่ยวกับลักษณะความเป็นอยู่และความมั่นคงในชีวิต กระทรวงกระเกษตรและสหกรณ์มีส่วนร่วมในการดูแลเกี่ยวกับการส่งเสริมอาชีพ กระทรวงสาธารณสุขมีส่วนร่วมในการดูแลเกี่ยวกับสุขภาพและการดำเนินกิจกรรมต่างภายในพื้นที่ เช่น รพ.สต. สสอ. รพ. และ สสจ. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น อบจ. และ อบต. และเทศบาลมีส่วนร่วมในการดูแลเกี่ยวกับการสนับสนุนงบประมาณและการดำเนินงานร่วมกับพื้นที่ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยมีส่วนร่วมในการดูแลเกี่ยวกับการเรียนการสอนภายในโรงเรียนผู้สูงอายุและการส่งเสริมอาชีพ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีส่วนร่วมในการดูแลเกี่ยวกับการเรียนการสอนด้านการจัดทำแผนชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีมีส่วนร่วมในการดูแลเกี่ยวกับการทำ MOU เพื่อจัดทำหลักสูตรโรงเรียนผู้สูงอายุ วัดมีส่วนร่วมในการดูแลเกี่ยวกับการเรียนการสอนธรรมมะในชีวิตประจำวัน กรมการพัฒนาชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลเกี่ยวกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการหาช่องทางกระจายสินค้าให้กับโรงเรียนผู้สูงอายุ เป็นต้น สำหรับอำเภอคีรีรัฐนิคม ดำเนินการโดยเน้นผู้สูงอายุกลุ่มติดบ้าน ติดเตียง โดยจัดตั้งศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ (day care) และกองทุนกายอุปกรณ์ โดยได้รับความร่วมมือจาก โรงพยาบาลคีรีรัฐนิคมมีส่วนร่วมในการดูแลเกี่ยวกับสุขภาพของผู้สูงอายุ ทีมสหวิชาชีพ และการประสานการดำเนินงานระหว่างศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ (day care) และกองทุนกายอุปกรณ์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มีส่วนร่วมในการดูแลเกี่ยวกับลักษณะความเป็นอยู่และความมั่นคงในชีวิต เช่น สวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุ เป็นต้น กองทุน long term care มีส่วนร่วมในการดูแลเกี่ยวกับการจัดทำแผนการดูแลผู้สูงอายุและงบประมาณสำหรับผู้สูงอายุที่มีความจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือ อบจ. มีส่วนร่วมในการดูแลเกี่ยวกับการจัดสร้างและปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยให้เหมาะสำหรับผู้สูงอายุที่มีความพิการ ทุพลภาพ ที่ได้รับกายอุปกรณ์ ตลอดจนสนับสนุนเกี่ยวกับกายอุปกรณ์บางส่วน อบต.และเทศบาลมีส่วนร่วมในการดูแลเกี่ยวกับการสนับสนุนงบประมาณและดำเนินการในพื้นที่ กรมการพัฒนาชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลเกี่ยวกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการหาช่องทางกระจายสินค้าให้กับผู้สูงอายุที่อยู่ในศูนย์ดูแลผู้สูงอายุที่สามารถทำงานเป็นรายได้เสริมได้ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยมีส่วนร่วมในการดูแลเกี่ยวกับการส่งเสริมอาชีพ เป็นต้น
บรรลุผลตามเป้าหมาย (3)
ประกอบด้วย
เจ้าหน้าที่เทศบาลฯ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ตัวแทนผู้สูงอายุ ตัวแทน อสม. ผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น
-
-
-