เครือข่ายสื่อสร้างสุข จ.สงขลา
เพื่อให้เกิดสื่อสำหรับประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อมวลชน
สัมภาษณ์เชิงลึก ถ่ายภาพนิ่ง และวิดีโอ เพื่อเก็บข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวชุมชน ได้แก่ บ้านใบตาลอายุ 100 ปี ชุมชนรำแดง และยอดหัวเขาแดง อ.สิงหนคร จ.สงขลา
- Facebook Live ผ่านเพจ “สงขลาสร้างสุข”
- บทความ 2 เรื่อง
เยือนเรือนร้อยปี ‘เรินใบตาล’ แห่งชุมชน รำแดง ยลสถาปัตยกรรม ลุ่มน้ำ ’เลสาบสงขลา เยือนเรือนร้อยปี ‘เรินใบตาล’ แห่งชุมชนรำแดง ยลสถาปัตยกรรมลุ่มน้ำ ’เลสาบสงขลา “เรินใบตาล” ทำหน้าที่คุ้มกันแดดฝนแก่คนตระกูล “บุญรัตน์” ถึง 4 ชั่วอายุคน ยาวนานกว่า 100 ปีแล้ว ถือเป็นต้นแบบการอนุรักษ์เรือนพื้นถิ่นตามวิถี “โหนด นา ไผ่ คน” ของ ต.รำแดง อ.สิงหนคร จ.สงขลา ด้วยการออกแบบที่โดดเด่น รวมทั้ง สร้างขึ้นด้วยทรัพยากรท้องถิ่นสำคัญของคาบสมุทรสทิงพระ คือ ต้นตาลโตนดทั้งต้นทั้งใบ ผสมผสานกับไม้ไผ่และใบจาก
เดิมเรินใบตาลตั้งอยู่กลางหมู่บ้านรำแดง จนมาถึงรุ่นปู่ก็มีการย้ายบ้านด้วยวิธีการ “ออกปาก” เพื่อนบ้านให้มาช่วยกันแบกหามเสาบ้าน เป็นการยกบ้านหลังเดิมทั้งหลังมาตั้งบนที่ดินปัจจุบันตามวัฒนธรรมของ “คนแต่แรก” ด้วยเป็นบ้านโบราณที่ยังคงสภาพสมบูรณ์อย่างมาก ดึงความสนใจจากทีมนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดย ดร.จเร สุวรรณชาต ซึ่งได้เข้ามาทำงานวิจัยในพื้นที่หลายๆ ชิ้น ซึ่งชิ้นที่โดดเด่นที่สุด คืองานวิจัย “บ้านลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา” เพื่อต่อยอดไปยังการวิจัยวิถีความเป็นอยู่ของชาวรำแดงดั้งเดิมที่ใช้ภูมิปัญญาในการดำเนินชีวิต จนได้รูปแบบเรินใบตาลที่สวยงามและสอดคล้องกับวิถีชีวิตคนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เป็นแหล่งเรียนรู้แก่คนรุ่นหลัง “อุบล บุญรัตน์” และ “จวง บุญรัตน์” สองพี่น้องลูกหลานรุ่นที่ 4 ใช้ชีวิตอยู่ในเรินใบตาลในปัจจุบัน โดยมี “จบ บุญรัตน์” อาศัยอยู่ฝั่งตรงข้ามกัน เจ้าของบ้านทั้งสามให้การต้อนรับแขกผู้มาเรือนด้วยมิตรไมตรี และบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ อย่างน่าสนใจ
อุบล บุญรัตน์ หรือ ป้าต้อย เล่าว่า ของชาวรำแดงต้องมีใต้ถุนสูงไม่ต่ำกว่า 1 เมตร เพราะว่าชุมชนอยู่ติดคลองสทิงหม้อเชื่อมกับทะเลสาบสงขลาพอหน้าฝนน้ำจะท่วม การมีใต้ถุนสูงจะช่วยให้บ้านไม่จมน้ำและยังใช้ประโยชน์ในการทำกิจกรรมหรืองานอดิเรกอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี เพราะใต้ถุนบ้านมีอากาศเย็นสบาย
สำหรับฝาผนังของบ้านตามแบบภูมิปัญญาเดิมทำตับจากโดยใช้ไม้ไผ่กว้าง 1 ข้อ เป็นแกนกลาง แล้วนำใบโหนดมาสานให้เป็นตับ ความกว้างประมาณ 1 เมตร ต่อมาเมื่อมีการทำงานวิจัยก็เกิดนวัตกรรมฝาผนังใบตาลที่สามารถถอดประกอบได้ และมีอายุการใช้งานยาวนานกว่าแบบภูมิปัญญาเดิม ถือเป็นการใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมของคนลุ่มน้ำทะเลสาบประยุกต์เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ
ทางด้าน “จบ บุญรัตน์” ลุงวัย 72 ปี เล่าว่า องค์ประกอบสำคัญของเรือนพื้นถิ่นลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาแต่แรก คือ 1) แม่เริน 2) ระเบียง และ 3) นอกชาน โดยส่วนของหลังคาใช้เบื้องดินเผา ซึ่งแต่เดิมที่เป็นโบราณจริงๆ จะใช้หลังคามุงจาก แต่มาช่วง10-20 ปีให้หลังนี้เปลี่ยนเป็นกระเบื้องดินเผาเพราะมีความเเข็งแรงทนทานกว่า
ไม้โตนดมีความแข็งแรงมาก โดยอายุไม้ที่เหมาะสมนำมาสร้างบ้าน คือ ไม้แก่ อายุ 20 ปี อายุการใช้งานจริง สามารถอยู่ได้เป็นร้อยปีเลยโดยไม่ให้โดนน้ำ "เขาว่าไม้โหนดคนปลูกไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ปลูก" ไม้โตนดปลวกไม่กิน เพราะเมื่อนำไม้แก่ไปแช่น้ำโคลนตมก็จะทำให้น้ำหวานในไม้ออกไปด้วย ปลวกหรือสัตว์อื่นๆ ก็ไม่เข้าไปกินไม้
เป็นภูมิปัญญาการยืดอายุการใช้งานของคนสมัยก่อน
“คนแต่แรกกว่าจะสร้างบ้านสักหลังใช้เวลานานถึงสามปี เพราะต้องเก็บรวบรวมไม้ไว้ทำ แล้วอุปกรณ์ที่ทำก็เป็นขวาน เป็นพร้า ไม่มีเลื่อย และไม่ใช้ตะปู แต่จะเจาะรูใส่เดือยจึงแข็งแรงกว่า” ลุงจบ กล่าว สำหรับ ใต้ทุนตรงส่วนนั่งเล่นเป็นพื้นดินธรรมชาติแบบโบราณ ที่หาไม่ได้อีกแล้วในปัจจุบัน พื้นที่แน่นมีความเย็นในเนื้ออย่างยิ่ง โดยเฉพาะช่วงปลายหน้าฝนจะมีความชุ่มชื่นของน้ำ แล้วยิ่งเดินไปทุกวันๆ พื้นยิ่งแวว เหมือนกระเบื้องขัดมัน แถมยังช่วยนวดเท้าได้อีกด้วย
รวมทั้งไม้คานต่างๆ ล้วนทำขึ้นจากไม้โหนดโดยทำกับมือล้วนๆ มีตะไคร่น้ำหรือไลเคนเกาะอยู่ บ่งบอกถึงการใช้งาน และความร่มเย็นเป็นสุข อีกทั้ง แคร่ไม้ไผ่สีสุกที่วางไว้พักผ่อนที่ใต้ถุนหรือรับแขกก็แวววันเป็นมัน
ของแปลกอีกอย่างของเรินใบตาล คือ โอ่งมากมายที่วางเรียงรายอยู่ เป็นโอ่งหินที่รองรับน้ำฝนมากว่าสิบปี น้ำฝนใสกริบ เย็น สดชื่น โดยไม่ต้องพึ่งตู้เย็นเลย ส่วนของรั้วบ้านที่นี่ไม่ใช่อิฐหินดินปูนแต่เป็นกอไม้ไผ่สีสุกหรือไผ่บ้านกอใหญ่
เดินถัดไปยังสวนหลังบ้านก็จะพบกับต้นโหนดอายุ 30 ปีเรียงรายสุดลูกหูลูกตา ร่มรืนและเย็นสบาย และยังหลงเหลือต้นโหนดโบราณสมัยลุงจบยังขึ้นตาลสมัยหนุ่มๆ แถมยังมีต้นมะม่วงคันอายุร้อยกว่าปีขนาดสามคนโอบ ซึ่งมะม่วงคันนี้ เป็นผลไม้ท้องถิ่นสำคัญและหายากมากในปัจจุบัน ความพิเศษของมะม่วงคัน คือ เมื่อแก่ผลสีเขียว เปรี้ยวมาก เมือสุกแล้ว ผลสีเหลือง หวานปานน้ำผึ้งเดือนห้าเลย และกลิ่นหอมมาก
นับเป็นความสวยงามที่ลงตัวระหว่างภูมิปัญญาดั้งเดิมผสมผสานกับความรู้ทางด้านสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่ “ชุบชีวิต” เรือนพื้นถิ่นภาคใต้ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ให้กลับมามีคุณค่าอีกครั้ง และยังเป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญแก่คนรุ่นหลังสืบต่อไปพิชิตยอดหัวเขาแดง แลเจดีย์องค์ดำองค์ขาว พิชิตยอดหัวเขาแดง แลเจดีย์องค์ดำองค์ขาว
จุดเชื่อมผสานสามวัฒนธรรม พุทธ จีน มุสลิม
ทันทีที่ ”เรา” ทีมงาน “สงขลาสร้างสุข” ทั้ง 9 ชีวิตขึ้นมาถึงบริเวณยอดบนสุดของ “หัวเขาแดง” ความเหน็ดเหนื่อยจากการเดินเท้าร่วมชั่วโมงก็มลายหายไป ยอดของเจดีย์องค์ขาวตั้งตระหง่านท่ามกลางแดดบ่าย คือ ภาพแรกที่ดึงดูดสายตาทุกคู่เมื่อก้าวพ้นแนวป่า ปลายเจดีย์แหลมพุ่งพลังท้าทายฟ้าครามกระจ่าง สายลมหอมสดชื่นจากท้องทะเลเบื้องล่างช่วยปัดเป่าความร้อนลุ่มให้เย็นสบาย
เราเลือกใช้เส้นทางขึ้นเขาจากฝั่งท่าเรือขนานยนต์ โดยมีบันไดสั้นๆ แค่ช่วงแรก จนเมื่อผ่านจุดพักตรงป้อม 8 ก็เข้าสู่เส้นทางเดินธรรมชาติ พื้นดินของหัวเขาแดงเป็น “หินสีแดง” ผสมไปกับซากป้อมและโบราณสถาน มองจากไกลๆ จะเห็นภูเขาเป็นสีแดง สองข้างทางมีต้นไม้นานาชนิดปกคลุมทำให้การเดินไม่ร้อนจนเกินไป ส่วนที่เรียกว่า “หัวเขา” เป็นคำเรียกของคนภาคใต้เรียกภูเขาที่มีลักษณะยื่นไปในทะเลหรือแผ่นดิน ซึ่งลักษณะเดียวกับที่คำภาคกลางเรียกว่า “แหลม” ซึ่งจังหวัดสงขลามีทั้ง “หัวเขาแดง” และ “หัวเขาเขียว” ซึ่งยื่นลงไปในทะเลเหมือนกัน
ระยะทางราว 2 กิโลเมตรกับการเดินเกือบ 1 ชั่วโมง ก็ถึงยอดหัวเขาแดงที่ตั้งของโบราณสถานสำคัญคู่บ้านคู่เมืองสงขลา “เจดีย์สองพี่น้อง” หรือ “เจดีย์องค์ดำองค์ขาว”
นายเจริญพงศ์ พรหมศร นักวิจัยผู้สนใจศึกษาประวัติศาสตร์สิงหนคร กล่าวว่า บนยอดหัวเขาแดงมีเจดีย์ 2 องค์ องค์แรกเป็น “เจดีย์องค์พี่” ลักษณะเป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม ก่อด้วยหินฉาบปูน ยอดปรักหักพังมีสีดำ คนทั่วไปเรียกว่า “เจดีย์องค์ดำ” สร้างเมื่อ พ.ศ.2375 โดยเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) หรือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ ส่วนเจดีย์องค์ที่สองเป็น “เจดีย์องค์น้อง” มีลักษณะเดียวกันคนทั่วไปเรียกว่า “เจดีย์องค์ขาว” สร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2382-2484 โดยพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา (ทัด บุนนาค) หรือ สมเด็จเจ้าพระยามหาพิชัยญาติ ผู้เป็นพี่น้องร่วมมารดากับเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) ชาวบ้านจึงเรียกว่า “เจดีย์สองพี่น้อง” ทัศนียภาพจากยอดเขาแดงสามารถมองได้ไกลสุดลูกหูลูกตาทั้ง 360 องศา เห็นท้องทะเล เกาะหนู เกาะแมว หาดสมิหลา หัวพญานาค ทำให้เข้าใจถึงคำว่า “ชัยภูมิ” สำหรับสังเกตการณ์ข้าศึกในอดีตได้เป็นอย่างดี ทั้งยังเป็นคำตอบของการก่อสร้างป้อมปืนจากยอดเขาไปจนจรดชายฝั่งทะเลทั้ง 3 ด้าน (คือ ทางทิศเหนือ ทิศตะวันออก และทิศตะวันตก โดยทางทิศใต้มีเขาค่ายม่วงเป็นปราการธรรมชาติอยู่แล้ว) ป้อมปืนที่หลงเหลือในปัจจุบันมีทั้งหมด 14 ป้อม
เชื่อมผสานวัฒนธรรมพุทธ จีน มุสลิม
สำหรับโบราณสำคัญอีกอย่างที่ตั้งอยู่ระหว่างเจดีย์องค์ดำองค์ขาว เป็นศาลาเก๋งจีนรูปทรงที่ไม่คุ้นตานัก คือ มีหน้าต่างช่องมองเป็นวงกลมตามศิลปกรรมแบบจีน จึงสามารถมองเห็น 360 องศา ใช้สำหรับบัญชาการสงครามได้อย่างดี คาดว่าก่อสร้างขึ้นในยุคสมัยพระเจ้าตากสิน โดยเมืองสงขลามีเจ้านายฝ่ายจีนเป็นผู้ปกครอง
“เจดีย์สององค์และศาลาเก๋งจีนนี้ตั้งบนป้อมปราการผืนใหญ่ซึ่งสร้างในสมัยสุลต่าน ตวนกู สุลัยมาน ชาห์ ผู้ปกครองเมืองสงขลาชาวมุสลิม ต้นตระกูล ณ พัทลุง แค่ขึ้นมาที่ยอดหัวเขาแดงที่นี่ที่เดียว ก็ได้เห็นสัญลักษณ์ของทั้งพุทธ จีน มุสลิม ครบอยู่ในพื้นที่เล็กๆ แห่งนี้”
นี่คือเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับบริบทของพื้นที่และวัฒนธรรมของหลากหลายเชื้อชาติศาสนาที่อาศัยในบริเวณนี้มาแต่อดีต ด้วยความเจริญรุ่งเรืองของอดีตเมืองท่า นี่คือ “เส้นทางสายไหมทางทะเล” เรือสินค้าจากจีนไปยุโรปต้องผ่านทางนี้ แล้วในทะเลสาบสงขลาก็ยังมีรังนกซึ่งเป็นสิ่งล้ำค่า เพราะฉะนั้น คนที่คุมเส้นทางการค้านี้จึงต้อง “ไม่ธรรมดา” อย่างยิ่ง
เกาะหนู เกาะแมว และสิงหนคร ภูมิประเทศที่เหมือนสัตว์หมอบ หมุดหมายสำคัญของนักเดินเรือ นี่ไม่ใช่คำกล่าวที่เกินความจริงเลย ความพยายามผลักดันให้สงขลาเป็นมรดกโลก ทั้งสงขลา เกาะยอ สทิงพระ มีหลักฐานที่ขุดพบมากว่า 1,000 ปี ล้วนประกาศความยิ่งใหญ่ด้วยตัวเองอยู่แล้ว ไม่ว่าจะได้รับการรับรองจากองค์กรยูเนสโก้หรือไม่ แต่สำหรับคนสงขลา ที่นี่คือ “มรดกโลก” ที่เต็มไปด้วยความภูมิใจและร่วมรักษาสืบต่อไป
บรรลุผลตามเป้าหมาย (3)
ประกอบด้วย
1.คณะทำงานโครงการ
2.ชุมชนรำแดง
3.ชุมชนหัวเขาแดง
ไม่มี
ไม่มี
ไม่มี