สถาบันนโยบายสาธารณะ (สนส. ม.อ.)

เครือข่ายสื่อสร้างสุข จ.สงขลา

สนับสนุนการลงพื้นที่เพื่อสื่อสารงานสร้างเสริมสุขภาวะ : ประเด็นการท่องเที่ยวโดยชุมชน18 มีนาคม 2561
18
มีนาคม 2561รายงานจากพื้นที่ โดย วิลาสลักษณ์ แก้วบุญเรือง
circle
วัตถุประสงค์

เพื่อให้เกิดสื่อสำหรับประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อมวลชน 

circle
กิจกรรมตามแผน

circle
กิจกรรมที่ปฎิบัติรายละเอียดของการทำกิจกรรมที่ได้ปฎิบัติจริง

สัมภาษณ์เชิงลึก ถ่ายภาพนิ่ง และวิดีโอ เพื่อเก็บข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวชุมชน ได้แก่ ทะเลสาบสงขลาแหล่งอาศัยโลมาอิระวดี ธนาคารกุ้งเพื่อการอนุรักษ์  รวมทั้งสัมภาษณ์บุคคลสำคัญที่เป็นแกนนำการอนุรักษ์        อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา

circle
ผลลัพธ์ที่ตั้งไว้

 

circle
ผลที่เกิดขึ้นจริงผลผลิต (Output) / ผลลัพธ์ (Outcome) / ผลสรุปที่สำคัญของกิจกรรม
  • Facebook Live ผ่านเพจ “สงขลาสร้างสุข” บทความ 3 เรื่อง
  1. ฟังเสียงชุมชน ‘เกาะใหญ่’ กระแสสินธุ์ รวมพลัง อนุรักษ์ ‘โลมาอิระวดี’ คงอยู่คู่ ‘เลสาบสงขลา ฟังเสียงชุมชน ‘เกาะใหญ่’ กระแสสินธุ์ รวมพลังอนุรักษ์ ‘โลมาอิระวดี’ คงอยู่คู่ ‘เลสาบสงขลา เปิดใจ 3 นักอนุรักษ์แห่งตำบลเกาะใหญ่ อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา รวมพลังสืบต่อลมหายใจ “โลมาอิระวดี” สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมน้ำจืดที่พบเพียง 5 แห่งในโลก หวังให้คงอยู่คู่ทะเลสาบของเราตราบนานเท่านาน
    -1-    นกแก้ว-นายไพฑูรย์ คชเสนีย์ อดีตผู้ใหญ่บ้านผู้ใช้ชีวิตหลังเกษียณทำงานเป็นตัวแทนประชาชนในฐานะสมาชิกสภา อบต.เกาะใหญ่ อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา ในปัจจุบัน และทำงานอนุรักษ์ธรรมชาติร่วมกับชาวบ้านตลอดมา
    ลุงนกแก้ว เล่าถึงความสำคัญของทะเลสาบสงขลาซึ่งเป็นแหล่งผลิตอาหารแห่งคาบสมุทรสทิงพระ ครอบคลุมทั้งจังหวัดสงขลาและจังหวัดพัทลุง เดิมมีความอุดมสมบูรณ์ด้วยมีปลาหลากหลายชนิดแต่ปัจจุบันลดน้อยลง หลายชนิดสูญพันธุ์ไปแล้ว สาเหตุเกิดจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง ทั้งมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม ครัวเรือน การผลิตและแปรรูปยางพารา ส่งน้ำเสียสู่ทะเลสาบ สัตว์น้ำที่ขยายพันธุ์ยากจึงสูญพันธุ์ในที่สุด
    เอกลักษณ์โดดเด่นของทะเลสาบสงขลาก็คือ “โลมาอิระวดี” หรือ “โลมาหัวบาตร” สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมน้ำจืดที่พบได้เพียง 5 แห่งในโลก โดยพบครั้งแรกที่แม่น้ำอิระวดี ประเทศอินเดีย ในประเทศไทยพบแห่งเดียว คือ ทะเลสาบสงขลา ถือเป็นสัตว์สงวน หายากและมีความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์สูงมาก ช่วง 50 ปีที่แล้ว โลมามีมากถึง 100 กว่าตัว ปัจจุบันมีแค่ 20-30 ตัว เพราะแหล่งอาหารลดลง  จากการสอบถามชาวประมงพบว่าโลมาจะรวมตัวกันเป็นฝูง ฝูงใหญ่ 10-15 ตัว ฝูงเล็ก 3-5 ตัว เมื่อก่อนโลมาจะเข้าถึงตลิ่ง แต่ปัจจุบันทะเลสาบตื้นเขิน หากต้องการพบโลมาต้องไปกลางทะเลสาบที่มีความลึก 3 เมตร
    สำหรับทรัพยากรล้ำค่าคู่ทะเลสาบสงขลาอีกอย่าง คือ กุ้งก้ามกราม เป็นอาหารขึ้นชื่อและราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 1 พันกว่าบาท ชาวบ้านนิยมทำประมงและส่งขายสร้างรายได้ดี จนกระทั่งจำนวนลดลงอย่างรวดเร็ว ชุมชนเกาะใหญ่จึงร่วมกันหาทางออกของวิกฤตินี้ด้วยการตั้ง “ธนาคารกุ้ง” เพื่อเพาะพันธุ์กุ้งและขยายจำนวน รวมทั้ง ช่วยเพิ่มปริมาณอาหารให้กับโลมาด้วย ลุงนกแก้ว กล่าวทิ้งท้ายว่า สิ่งที่อยากฝากถึงเยาวชนหรือคนทั่วไป คือ โลมาอิระวดีเป็นสัตว์น่ารัก อยากให้ช่วยกันอนุรักษ์ไว้ให้นานที่สุด เพื่อให้บ้านเราเป็นแหล่งศึกษาชีวิตของโลมาอิระวดีซึ่งมีเพียงไม่กี่แห่งในโลก อยากให้ทุกภาคส่วน ทั้งราชการและองค์กรเอกชน เห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล รวมทั้ง สถาบันการศึกษาทุกระดับ ทั้งโรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย บรรจุหลักสูตรพิเศษให้ความรู้แก่นักเรียน นักศึกษาและเยาวชน ได้ศึกษาเรื่องโลมาอิระวดีตลอดไป

-2-  พระราม-พระปลัดนรุตม์ชัย อภินนฺโท วัดเกาะใหญ่ อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา ในฐานะพระนักอนุรักษ์ผู้ทำงานร่วมกับชุมชนเสมอมา ทั้งการอนุรักษ์ธรรมชาติ การท่องเที่ยว ระบบนิเวศ วิถีชุมชน รวมทั้ง งานด้านศาสนาในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
พระราม เล่าว่า เกาะใหญ่ คือ บ้านเกิดแต่ไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่ามีโลมาอยู่จนกระทั่งวันหนึ่งเมื่อปี 2551 ได้เห็นข่าวทางทีวีนำเสนอว่าพบโลมาตายที่ทะเลบ้านเรา ตรงนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของการตั้งคำถามและศึกษาถึงการมีอยู่ของโลมา ทั้งจากการสอบถามจากญาติๆ และชาวบ้านในชุมชน รวมทั้ง ศึกษาข้อมูลจากการสำรวจทางวิชาการ
ต่อมา เริ่มทำงานอนุรักษ์โลมาตั้งแต่ปี 2555 ตอนนั้นโลมายังมีอยู่ 30 กว่าตัว แต่ด้วยข้อจำกัดทางเครื่องมือในการสำรวจวิถีชีวิตโลมาอย่างจริงจังปีนั้นมีโลมาตายมากถึง 4 ตัว ซึ่งก็ได้ข้อสรุปสาเหตุการตายหลัก 2 ส่วน คือ 1) เครื่องมือประมง คือ อวนปลาบึกเป็นสาเหตุใหญ่สุดที่ทำให้โลมาตาย และ 2) โลมาที่เหลืออยู่ผสมพันธุ์ในวงศ์ตระกูลเดียวกันทำให้สายพันธุ์อ่อนแอ ทางกลุ่มจึงเริ่มแก้ปัญหาที่สามารถทำได้ก็คือ การให้ความรู้ควบคู่กับขอความร่วมมือกับชาวประมงในการเลิกใช้อวนปลาบึก รวมทั้ง ไม่ทำการประมงในแหล่งหากินของโลมาซึ่งก็ได้รับความร่วมมือดีขึ้นตามลำดับ
ช่วง 2-3 ปีหลังนี้ ทางกลุ่มก็เริ่มมีช่องทางสื่อโซเชียล คือ เฟสบุ๊ก ช่วยกระตุ้นและสร้างความเข้าใจให้เห็นความสำคัญว่าประเทศไทยมีโลมาอิรวะดีที่ทะเลสาบสงขลาที่เดียว เราในฐานะคนในชุมชนทำอย่างไรที่จะช่วยกันรักษาไว้ให้คงอยู่ พลังของสื่อออนไลน์ช่วยประชาสัมพันธ์และดึงสื่อมวลชนเข้ามาร่วมด้วยช่วยกัน รวมทั้ง ความร่วมมือในชุมชน คือ คุณอุทัย ยอดจันทร์ ซึ่งเป็นผู้เสียสละเงินส่วนตัวเพื่อดูแลปลาโลมา ก็เกิดความเขื่อมโยงการทำงานร่วมกัน
ทางกลุ่มเริ่มทำการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวขึ้น โดยใช้เพจ “ที่นี้เกาะใหญ่ สวยสุดแห่งลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา” เป็นช่องทางการนำเสนอวิถีชุมชน ระบบนิเวศ ธรรมชาติ และการท่องเที่ยวตามรอยพระพุทธศาสนา ตามสโลแกน "เที่ยว กิน นอน พักผ่อน ชมธรรมชาติ"  เน้นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ดึงคนภายนอกเข้ามาท่องเที่ยวที่บ้านเราและมาช่วยกันอนุรักษ์เป็นสิ่งที่ดี เป็นพลังที่เข้มแข็งอย่างยิ่ง
อย่างไรก็ตาม ในฐานะคนทำงานอนุรักษ์ตระหนักดีว่า เราทำงานในฐานะนักอนุรักษ์ นักธรณีวิทยา ชุมชนหรือประชาชนที่ทำงานด้วยจิตอาสา สุดท้ายเกิดผลสำเร็จได้แค่ครึ่งทางเท่านั้น อีกครึ่งเป็นเรื่องของทางราชการหรือฝ่ายกฎหมายที่ต้องร่างกฎหมายขึ้นมาคุ้มครองและบังคับใช้อย่างจริงจัง
“เราทำให้เต็มที่เพื่อให้ผู้มีอำนาจหันมาเห็นคุณค่าของโลมา เมื่อเขาเห็นคุณค่าเขาต้องออกกฎหมายมาคุ้มครอง ต้องมีการสำรวจอย่างจริงจัง ต้องติดจีพีเอสโลมาทุกตัว เพื่อเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด ว่ามันใช้ชีวิตอย่างไร การอยู่อาศัย หาอาหารที่ไหน เก็บข้อมูลวงจรชีวิต ให้เห็นชัดเจน นำไปสู่การขยายพันธุ์โดยใช้เทคโนโลยีที่ดี ตรงนี้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานราชการต้องเข้ามาร่วมกันทำ” พระราม กล่าว
ปัจจุบันชุมชนตื่นตัวเรื่องโลมามากขึ้น วิธีที่ช่วยอนุรักษ์ที่ดีที่สุด คือ ต้องกั้นเขตอนุรักษ์โลมา รวมทั้ง ดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ให้ชาวบ้านเห็นคุณค่าการมีอยู่ของโลมาว่าเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตอย่างไร ช่วยสร้างรายได้ สร้างความมั่นคงให้ชุมชนได้อย่างไร ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ ถ้าทำแบบนี้ได้ สถานการณ์ก็คงดีขึ้น
สุดท้ายอยากฝากถึงคนทั่วไปว่าควรให้ความสำคัญเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หยุดการทำลายและเบียดเบียนชีวิต และขอให้ผู้อำนาจที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์รับฟังข้อเสนอจากนักอนุรักษ์ไปผลักดันให้เกิดผลระดับนโยบาย และเป็นกำลังให้นักอนุรักษ์ทุกคน ที่มีใจเมตตา ช่วยเหลือผู้อื่น ท่านก็จะมีความสุข

-3-    นวย-อุทัย ยอดจันทร์ ประธานชมรมอนุรักษ์โลมาอิรวดีทะเลสาบสงขลา ม.6 ต.เกาะใหญ่ อ.กระแสสินธุ์        จ.สงขลา ในฐานะตัวแทนชาวบ้านผู้มีจิตอาสาและอุทิศตนเพื่ออนุรักษ์โลมาตลอดเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมา ทั้งการสำรวจจำนวนโลมา การเฝ้าระวังป้องกัน ตลอดจน ขับเคลื่อนและขยายความร่วมมือไปยังหน่วยงานราชการต่างๆ
ลุงนวย เปิดใจว่า ชมรมก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2549 เป็นเวลากว่า 10 ปีในการทำงานร่วมกับนักวิชาการของศูนย์วิจัยฯ ที่ลงพื้นที่สำรวจโลมา ทำให้ชาวบ้านเกิดการรวมกลุ่มกัน จากช่วงแรกมีสมาชิกเพียง 5 คนเท่านั้นเพราะยังไม่เห็นความสำคัญ จนช่วงหลังๆ ที่สื่อมวลชนให้ความสนใจนำเสนอข่าว ชาวบ้านก็ให้ความสนใจเข้าร่วมจนปัจจุบันมีสมาชิกรวม 25 คน
กิจกรรมของกลุ่มที่ผ่านมา เน้นเรื่องให้ข้อมูลแก่นักเรียนนักศึกษา รวมทั้ง กลุ่ม องค์กรต่างๆ ที่สนใจเข้ามาขอข้อมูลว่าโลมาใช้ชีวิตอย่างไร ได้รับผลกระทบอย่างไร ก็หลักๆ ก็เป็นเรื่องน้ำเสีย อาหารไม่เพียงพอ รวมทั้ง โลมาติดอวนปลาบึก ซึ่งเป็นสาเหตุหลักการตายของโลมา
สำหรับ ความคาดหวังของการอนุรักษ์หรือแนวทางการทำงานของกลุ่มในอนาคต คือ ต้องการให้มีเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่เข้ามาสานต่อการทำงานมากขึ้น ให้เกิดจิตสำนึกหวงแหนถิ่นฐานบ้านเกิดและของดีที่บ้านตนเอง กระตุ้นความคิดเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติต่อไป

การทำงานอนุรักษ์จำเป็นต้องใช้เวลากว่าจะเห็นผลชัดเจน นี่เป็นความจริงที่ทุกคนตระหนักดี แต่คำถามกลับกันว่าเวลาที่ใช้ไปในการอนุรักษ์โดยชุมชนเพียงฝ่ายเดียวนั้น เพียงพอและเท่าทันวิกฤติการณ์ “สูญพันธุ์” ของโลมาอิระวดีหรือไม่ หากหน่วยงานภาครัฐไม่ขยับและร่วมขับเคลื่อนอย่างจริงจัง วันหนึ่งข้างหน้าอาจเหลือเพียง “ชื่อ” ให้ลูกหลานได้รู้จักเหมือนเช่นสัตว์อื่นๆ ที่สูญพันธุ์ไปก่อนหน้านี้<br />
  1. ธนาคารกุ้งก้ามกราม เพื่อความมั่นคงทางอาหารรอบทะเลสาบสงขลา ธนาคารกุ้งก้ามกราม
    เพื่อความมั่นคงทางอาหารรอบทะเลสาบสงขลา "ตอนนี้กุ้งก้ามกรามในทะเลสาบสงขลากำลังจะสูญพันธ์ ชาวบ้านจับกุ้งก้ามกรามขายกันมากเพราะขายได้ราคาดี  แต่ทุกคนอาจจะคิดไม่ถึงว่าหากจับแม่กุ้งที่มีไข่เต็มท้องไปขาย แม่กุ้งแต่ละตัวอุ้มไข่ถึง 3-6 หมื่นฟองต่อตัว นี่เป็นจุดวิกฤติให้เกิดการสูญพันธุ์ได้ แต่ถ้าเรานำมาเพาะพันธุ์ก็จะได้ลูกกุ้งคืนธรรมชาติมากถึง 3 หมื่นกว่าตัวเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูกุ้งก้ามกรามให้อยู่คู่ทะเลสาบสงขลาตลอดไป" นี่คือแนวคิดการดำเนินโครงการธนาคารกุ้งก้ามกรามของ พี่ จู - นายสุเวทย์  บางพงศ์ ประธานธนาคารกุ้งเพื่อการฟื้นฟูและยั่งยืน หมู่ที่ 6 บ้านแหลมหาด อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา
    ธนาคารกุ้ง เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2561 โดยใช้งบประมาณจากโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี โดยตอนแรกดำเนินโครงการแปรรูปสัตว์น้ำกำลังจะหมดโครงการและมีงบประมาณเหลืออยู่ประมาณ 5 หมื่นบาท จึงจัดเวทีประชาคมร่วมกันคิดว่าจะทำอย่างไร จึงเกิดเป็นธนาคารกุ้งขึ้นมา
    กุ้งก้ามกราม เป็นทรัพยากรธรรมชาติในทะเลสาบสงขลา และมีความโดดเด่นมากในพื้นที่อำเภอกระแสสินธุ์ เช่นเดียวกับสัตว์น้ำอื่นๆ ทั้งปลาดุกทะเล ปลาหัวโม่ง ปลากะพง ปลานิล ปลาบึก การเพาะพันธุ์กุ้งจะได้ประโยชน์รวมกันรอบทะเลสาบสงขลาและทั้งหมู่บ้าน ชาวประมงจับเพราะอยากมีรายได้ แต่ไม่คำนึงถึงว่ากุ้งไข่จะต้องขยายพันธุ์ต่อไป ถ้าเราจับมาทั้งหมดก็อาจสูญพันธุ์ ประกอบกับน้ำทะเลมีการเปลี่ยนแปลงสภาพ ทั้งสารเคมีจากนาข้าว น้ำสกปรกลงสู่ทะเล แทนที่กุ้งจะขยายพันธุ์เอง แม้ว่าสลัดไข่แต่อัตราการติดและรอดชีวิตน้อยมาก โดยทางกลุ่มได้ศึกษาจากบ้านหัวเขาแดง อ.สิงหนคร จ.สงขลา โดยที่นั่นเป็นธนาคารปู แต่นำมาปรับประยุกต์ใช้กับกุ้ง
    ความร่วมมือนี้เริ่มจากธนาคารปู บ้านหัวเขาแดง อ.สิงหนคร จ.สงขลา ขอแม่กุ้งก้ามกรามจากที่นี่ไปทดลองเพาะพันธุ์จนประสบความสำเร็จแล้วนำกลับมาปล่อยที่นี่ประมาณ 13 ครั้ง ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2560 และได้ผลที่ดี
    หลังจากนั้น พี่จูเองก็ศึกษา และพูดคุยร่วมกับคณะกรรมการหมู่บ้านหมู่ต่างๆ ชวนไปดูงานการเพาะพันธุ์กุ้งที่บ้านหัวเขาแดง แล้วกลับมาลองทำเอง ประจวบกับหมู่ที่ 6 มีความพร้อมเรื่องเงินทุนจากโครงการ 9101 อยู่แล้วก็นำไปจัดสร้างโรงเรือน บ่อเพาะเลี้ยง  แต่แม่กุ้งได้รับบริจาคจากชาวบ้านที่บริจาคให้เราเพาะพันธุ์ทั้งหมด ต่อมาเมื่อแม่กุ้งสลัดไข่เรียบร้อยแล้ว ก็นำไปแลกแม่กุ้งไข่จากร้านค้า นำกลับมาเพาะพันธุ์ต่อ หมุนเวียนอยู่อย่างนี้ โดยค่าใช้จ่ายต่างๆ ทั้งค่าน้ำค่าไฟ คณะกรรมการธนาคารกุ้งบริหารจัดการร่วมกัน สำหรับ ค่าน้ำที่ต้องจ่าย คือ น้ำเค็มที่ไปบรรทุกมาจากอำเภอสทิงพระ เดือนละครั้ง โดยการผสมน้ำเค็มในบ่อเพาะพันธุ์สามารถช่วยให้อัตราการรอดของไข่สูงถึง 90% เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านผสมกับวิทยาศาสตร์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ลงตัว สำหรับวงจรชีวิตกุ้งนั้น แม่กุ้งที่นำไข่มาฟัก คือ แม่กุ้งที่มีไข่ระยะที่ 1 (ไข่อ่อน สีแดง) แล้วไล่มาเป็นสีเหลือง สีเทา และสีดำ รวม 4 ระดับ ดังนี้ ไข่สีดำใช้เวลาในการสลัดไข่หลังปล่อยลงบ่อ 2 วัน ไข่สีเทา 4 วัน ไข่สีเหลือง 7 วัน และไข่แดง 10 วัน โดยธนาคารกุ้งรับบริจาคไข่ทุกระยะ แล้วแยกเพาะพันธุ์ไปแต่ละบ่อ
    หลังจากที่สลัดไข่ออกมาแล้วก็นำลูกกุ้งอายุ 10 วันไปปล่อยในเขตอนุรักษ์ เก็บไว้ในบ่อต่อไม่ได้ เพราะหลังจากนี้กุ้งต้องกินอาหาร มีค่าใช้จ่ายมาก และจะเติบโตในธรรมชาติเร็วกว่าตอนที่อยู่ในบ่อ “เน้นเลี้ยงธรรมชาติ ไม่เน้นกุ้งเลี้ยง” สำหรับ เขตอนุรักษ์ คือ พื้นที่ติดชายฝั่งทั้งหมด กำหนดระยะ 250 เมตรจากชายฝั่ง มีสร้างซั้งบ้านปลา ประมาณ 50 ลูก เพื่อเป็นที่วางไข่ของสัตว์ธรรมชาติ เป็นที่หลบภัย ทั้งนี้ ใน 1 รอบของการปล่อย ลูกกุ้งใช้เวลา 4-5 เดือน ก็จะสามารถจับได้ ขนาด 3 ตัว 2 ขีด ซึ่งถ้าเป็นกุ้งที่ไม่มีไข่ก็นำไปขายตามปกติ
    ถึงวันนี้ธนาคารกุ้งปล่อยแม่กุ้งไข่ไปแล้ว 220 ตัว แต่ละตัวอุ้มไข่ 3 หมื่นฟอง ก็คาดหวังว่าจะปลอดภัยและเพิ่มจำนวนได้
    แนวทางการพัฒนาธนาคารกุ้งในอนาคต คือ มีการประชุมร่วมกันระหว่างคณะกรรมการธนาคารกุ้งและชาวบ้าน เสนอโครงการก่อสร้างอาคารศูนย์เรียนรู้กุ้งก้ามกราม จากโครงการไทยนิยม หมู่บ้านละ 2 แสนบาท เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้แก่ผู้ที่สนใจต่อไป
    ตอนนี้ชาวบ้านมองเห็นความสำคัญและประโยชน์ของธนาคารกุ้งแล้ว เรามีองค์ความรู้อยู่ กำลังถอดบทเรียนและต่อยอดให้คนที่สนใจเข้ามาดู และไปทำต่อในพื้นที่ของตนเอง โดยหมู่ที่ 6 เป็นต้นแบบ "พี่คิดว่าถ้าพี่ทำอยู่คนเดียวพี่ทำไม่ไหวหรอก คือ พี่ต้องรับผิดชอบทั้งหมดเลย อยากให้หน่วยงานทุกหน่วยงานเข้ามาช่วยเหลือบ่าง แต่ถามว่าทำได้ไหม เราทำได้ เพราะเรามีจิตอาสาที่จะอยู่” พี่จู กล่าวทิ้งท้าย อย่างมีความหวัง

  2. ทริป “พาหัวใจไปล่อง ’เลสาบสงขลา ชมโลมาอิระวดี ที่เกาะใหญ่ กระแสสินธุ์”

circle
กิจกรรมตามแผน
circle
ประเมินความสำเร็จของการดำเนินกิจกรรม

บรรลุผลตามเป้าหมาย (3)

circle
กลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วม
จำนวน 10 คน จากที่ตั้งไว้ 10 คน
ประกอบด้วย

1.คณะทำงานโครงการ
2.ชมรมอนุรักษ์โลมา  อิระวดีทะเลสาบสงขลา  ต.เกาะใหญ่ อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา
3.กลุ่ม Hope & Life 4.วัดเกาะใหญ่ อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา

circle
ปัญหา/แนวทางแก้ไข

ไม่มี

circle
ชื่อผู้ติดตามในพื้นที่ของ
-
circle
ข้อเสนอแนะต่อ

ไม่มี

circle
ข้อเสนอแนะต่อพื้นที่

ไม่มี