โครงการยกระดับการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะและพัฒนาพื้นที่สุขภาวะส่งเสริมกิจกรรมทางกาย
กำหนดการ
ประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนงานนโยบายสาธารณะเรื่องแผนและโครงการส่งเสริมกิจกรรมทางกายและพัฒนาพื้นที่สุขภาวะส่งเสริมกิจกรรมทางกายที่คำนึงถึงความปลอดภัยในพื้นที่ นำร่อง 12 อปท.
อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี
วันศุกร์ที่ 13 กันยายน พ.ศ.2567 เวลา 09.00 – 20.00 น.
ณ______________ อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี
1) วัตถุประสงค์
1.1) เพื่อสรุปแลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดทำแผนและโครงการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในพื้นที่
1.2) เพื่อสรุปผลการถอดบทเรียนรูปแบบกิจกรรมและพื้นที่ต้นแบบสุขภาวะ
1.3) เพื่อสนับสนุนกระบวนการมีส่วนร่วมในการสร้างกลไกความร่วมมือบันทึกข้อตกลงส่งเสริมกิจกรรมทางกาย
2) ผู้เข้าร่วมประชุม จำนวน 98 คน
2.1) นายกเทศมนตรี/นายกอบต. 12 แห่งๆ ละ 1 คน จำนวน 12 คน
2.2) ปลัดเทศบาล/ปลัดอบต. 12 แห่งๆ ละ 1 คน จำนวน 12 คน
2.3) ผอ.กองสาธารณสุข/ผอ.กองการศึกษา/ผอ.กองช่าง 12 แห่งๆ ละ 2 คน จำนวน 24 คน
2.4) หัวหน้าสำนักปลัด 12 แห่งๆ ละ 1 คน จำนวน 12 คน
2.6) ผู้รับทุนโครงการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย 12 แห่ง แห่งๆ ละ 2 คน จำนวน 24 คน
3) ภาคีเครือข่าย
3.1) สาธารณสุขอำเภอ/จนท.ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 2 คน
3.2) ท้องถิ่นอำเภอ จำนวน 1 คน
3.3) คณะทำงานเขต/จังหวัด จำนวน 7 คน
3.4) คณะทำงานจากสถาบันนโยบายสาธารณะมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จำนวน 3 คน
3.5) โหนดจังหวัด (สสส.) จำนวน 1 คน
กำหนดการ
เวลา รายละเอียด
วันศุกร์ที่ 13 กันยายน พ.ศ.2567
09.30 – 10.00 น. ลงทะเบียน รับเอกสาร
10.00 – 10.30 น. กล่าวรายงานความเป็นมาการดำเนินงานประชุมชี้แจงโครงการ
โดย นายกเทศมนตรีเขื่องใน
กล่าวเปิดการประชุมและมอบนโยบายการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะและพัฒนาพื้นที่
สุขภาวะส่งเสริมกิจกรรมทางกาย(PA) และการสื่อสารสาธารณะ ระดับตำบล และอำเภอ
โดย นายอำเภอเขื่องใน
10.30 – 10.50 น. สรุปการดำเนินโครงการยกระดับการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะและพัฒนาพื้นที่สุขภาวะส่งเสริมกิจกรรมทางกายและการสื่อสารสาธารณะระดับตำบลและอำเภอ”
โดย ดร.เพ็ญ สุขมาก ผู้อำนวยการสถาบันนโยบายสาธารณะมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
10.50 – 11.10 น. ผลการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะ/พื้นที่สาธารณะส่งเสริมกิจกรรมทางกายที่คำนึงถึงความปลอดภัย
โดย ผศ.กตัญญู หอสูติสิมา คณะสถาปัตย์ฯ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และนายชุนันทร์ วามะขัน
นักวิจัย/สถาปนิกศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
11.10 – 12.00 น. แบ่งกลุ่มระดมความคิดเห็น สรุปผลการถอดบทเรียนรูปแบบกิจกรรมและพื้นที่ต้นแบบสุขภาวะ โจทย์การแบ่งกลุ่ม ดังนี้
1. สรุปภาพรวมแผนกิจกรรมทางกายและโครงการ
2. ผลลัพธ์กิจกรรมโครงการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย
3. แนวทางการพัฒนาพื้นที่สาธารณะ
4. แนวทางการดำเนินงานต่อในระยะถัดไป
5. ปัจจัยเอื้อปัจจัยความสำเร็จ ปัจจัยอุปสรรค ข้อจำกัด โอกาสการพัฒนาต่อ
โดย นายรพินทร์ ยืนยาว มูลนิธิประชาสังคม อุบลราชธานี
12.00 – 13.00 น. รับประทานอาหารกลางวัน
13.00 – 14.45 น. นำเสนอผลการถอดบทเรียนรูปแบบกิจกรรมและพื้นที่ต้นแบบสุขภาวะ
โดย นายรพินทร์ ยืนยาว มูลนิธิประชาสังคม อุบลราชธานี
15.00 – 17.00 น. เวทีสาธารณะ “เสวนาแนวทางการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะส่งเสริมกิจกรรมทางกายและการสนับสนุนกิจกรรมโครงการส่งเสริมกิจกรรมทางกายเพื่อลดโรค NCDs”
17.00 – 19.00 น. กิจกรรมแลกเปลี่ยนนำเสนอกิจกรรมของชุมชน และเดินทำกิจกรรมตามบูธต่างๆ
รับชมการแสดง
1. กิจกรรมการแสดงศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบล
2. กิจกรรมการแสดง รร.ผู้สูงอายุ
3. กิจกรรมเยี่ยมชมตลาดจำหน่ายสินค้า
4. กิจกรรมเยี่ยมชมบูธ
- บูธตรวจสุขภาพ
- บูธใส่ใจสิ่งแวดล้อม
- บูธกิจกรรมแสดงผลงาน รร.ผู้สูงอายุ
5. กิจกรรมการละเล่นดนตรี
“เขื่องใน”KICK OFF กิจกรรมทางกาย
พาเหรดโชว์ผลงานปิดโครงการ
นอภ.ย้ำอยากเห็นอปท.ร่วมPAทั้งอำเภอ
ที่หอประชุมที่ว่าการอำเภอเขื่องใน จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2567 คณะทำงานโครงการยกระดับการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะและพัฒนาพื้นที่สุขภาวะส่งเสริมกิจกรรมทางกาย(Physical Activity) หรือ PA และการสื่อสารสาธารณะระดับตำบลและอำเภอ ในพื้นที่นำร่อง ได้จัดการประชุมสรุปผลงานโครงการฯหลังดำเนินกิจกรรมครบตามวาระระหว่างเดือนเมษายน-สิงหาคม 2567โดยมีดร.เพ็ญ สุขมาก ผู้อำนวยการสถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้เปิดการประชุม มีอปท. 12 แห่งร่วมงานเพื่อนำเสนอผลงาน ตลอดจนสะท้อนปัญหา อุปสรรค ความต้องการเพื่อถอดบทเรียนนำไปสู่การเดินหน้าต่อยอดต่อไป
สำหรับพื้นที่ของอ.เขื่องใน ที่เข้าร่วมโครงการ ประกอบด้วย เทศบาลตำบลเขื่องใน ,อบต.หัวดอน, อบต.ศรีสุข, อบต.ท่าไห ,อบต.แดงหม้อ, อบต.กลางใหญ่, อบต.นาคำใหญ่ ,อบต.ก่อเอ้ , อบต.ค้อทอง, อบต.ธาตุน้อย, เทศบาลตำบลบ้านกอก และเทศบาลตำบลห้วยเรือ การนำเสนอผลงานส่วนใหญ่มุ่งเป้าไปที่สุขภาวะของผู้สูงอายุ โดยมีโรงเรียนผู้สูงอายุเป็นจุดศูนย์กลาง ส่วนใหญ่พบว่ามีโรคฮิตประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิต หลอดเลือดสมอง และมีพฤติกรรมกินอาหารรสจัด ส่วนปัญหาอุปสรรคในบางพื้นที่ เช่น อบต.ท่าให ต้องปรับทัศนคติผู้สูงอายุให้เข้าใจถึงปัญหาสุขภาพจากการใช้ชีวิตประจำวัน เรื่องอาหาร เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงซึ่งยอมรับว่ายากแต่ก็ต้องทำค่อยเป็นค่อยไป ในขณะที่อบต.นาคำใหญ่ ระบุว่าการสร้างแรงตระหนักในการมีส่วนร่วมกิจกรรมทางกายของกลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มเยาวชนยังไม่เข้มแข็งพอเนื่องจากระยะเวลากระชั้นชิด และเกรงว่าเมื่อไม่มีงบประมาณมาสนับสนุนจะทำให้แรงขับเคลื่อนแผ่วลงขาดความต่อเนื่อง
ในครั้งนี้ได้มีการเสนอแผนปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณที่ว่าการอำเภอรองรับกิจกรรมทางกายโดยทีมนักวิจัย สถาปนิกศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม นำโดยผศ.กตัญญู หอสูติสิมา คณะสถาปัตย์ฯมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และนายชุนันท์ วามะขัน เป็นผู้ออกแบบ ผนวกกับเทศบาลจะมีการปรับพื้นที่และย้ายตลาดสดอีกด้วย
ส่วนในภาคบ่ายมีกิจกรรมKICK OFF เวทีสาธารณะสวนฉำฉา หน้าหอประชุมที่ว่าการอำเภอเขื่องในโดยมีนายภัทรพล สารการ นายอำเภอเขื่องใน เป็นประธานเปิดงาน นายไพฑูรย์ จิตทวี นายกเทศมนตรีตำบลเขื่องใน กล่าวรายงาน ซึ่งมีการจัดแสดงกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับกิจกรรมทางกายของนักเรียน กลุ่ม ชมรม เครือข่ายมวลชนในแต่ละชุมชน และจัดเวทีเสวนา เรื่องสุขภาวะกิจกรรมทางกายชุมชน ซึ่งผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย นายไพฑูรย์ จิตทวี นายกเทศมนตรีตำบลเขื่องใน นายชูวิทย์ ธานี นายแพทย์สาธารณสุขอำเภอเขื่องใน นายสุริยา บุญประทาน นายกอบต.ก่อเอ้ ดต.จำรูญสุข ภูวพงศ์ รองนายกอบต.หัวดอน โดยมีนางเสาวนีย์ กิตติพิทชานนท์ อ.คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ดำเนินรายการ
ดต.จำรูญสุข ภูวพงศ์ รองนายกอบต.หัวดอน เผยจุดแข็งของอบต.หัวดอนมีธรรมนูญสุขภาพตำบลแห่งแรกของจังหวัดเมื่อ 22 ก.พ.2560 นับว่าเป็นตำบลเข้มแข็งระดับต้นๆของจังหวัด โรงเรียนผู้สูงอายุจบไปแล้ว 7 รุ่น ปัจจุบันเป็นรุ่นที่ 8 ส่วนกิจกรรมทางกายได้รับการเสริมข้อมูลจากนางชาดา โพธิ์ขำ ปลัดอบต.หัวดอนว่าได้สร้างแรงตระหนักผ่านเจ้าหน้าที่เป็นแบบอย่าง มีข้าราชการพร้อมด้วยอสม.เป็นแกนนำในการออกกำลังกายเชิงนันทนาการ เช่น เต้นแอร์โรบิค โดยจัดทุกวันพุธ
ส่วนนายสุริยา บุญประทาน นายกอบต.ก่อเอ้ ยืนยันว่าอบต.ก่อเอ้มีมาตรการเฝ้าระวังเรื่องลดอุบัติเหตุ เป็นผลงานที่ภูมิใจจากการรณรงค์อย่างจริงจังและสร้างจิตสำนึกต่อเนื่องจนเห็นผลสัมฤทธิ์ ที่ผ่านมาจำนวนอุบัติเหตุ และจำนวนผู้เสียชีวิตลดมาก ส่วนกิจกรรมทางกายก็ได้จัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกันโดยยึดโยงกับโรงเรียนประถม และโรงเรียนผู้สูงอายุ แต่ก็มีข้อจำกัดเพราะทำตามงบประมาณที่จำกัด
ด้านนายไพฑูรย์ จิตทวี นายกทต.เขื่องใน ชี้แจงว่าการจัดกิจกรรมทางกายจัดต่อเนื่อง มีการปรับพื้นที่สาธารณะให้เอื้อกับกิจกรรมทางกายและเป็นสถานที่ท่องเที่ยวด้วย พร้อมรับปากที่จะจัดกิจกรรมลักษณะนันทนาการทุกดือน หรือเดือนละสองครั้ง ตนยืนยันที่ผลักดันอย่างเต็มที่ แต่ยังมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณเป็นเงื่อนไขเชิงบริหารจัดการเนื่องจากเทศบาลมีงบฯจำกัด จึงขอฝากผ่านนักการเมืองรัฐบาลช่วยสนับสนุนงบประมาณด้วย
อนึ่งอำเภอเขื่องในมี 19 อปท.เข้าร่วมโครงการกิจกรรมทางกาย หรือPA 12 อปท. ยังเหลือ 7 พื้นที่ที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ ในครั้งนี้นายภัทรพล สารการ นายอำเภอเขื่องใน ได้เชิญชวนอบต.ที่เหลืออีก 7 พื้นที่เข้าร่วมโครงการในโอกาสต่อไปเพื่อให้กิจกรรมทางกายมีพลังเต็มทั้งอำเภอ
ในครั้งนี้ดร.เพ็ญ สุขมาก ผอ.สถาบันนโยบายสาธารณะ ม.สงขลานครินทร์ กล่าวแสดงความยินดีและพึงพอใจต่อผลงานที่อปท.ร่วมกันสร้าง และหวังว่าโอกาสหน้าโครงการจะได้รับการสนับสนุนผลักดันจากผู้บริหารแต่ละอปท.เพื่อสร้างความมั่นคงในสุขภาพของคนในชุมชน ลดความเสี่ยงความเจ็บป่วยจากโรคNCD ซึ่งแฝงอยู่กับพฤติกรรมอาชีพ การทำงาน การเดินทาง ของแต่ละคนในชีวิตประจำวันนั่นเอง อีกทั้งคาดหวังกับการสร้างกลไกให้เอื้อต่อการการเข้าถึง การรวมกลุ่มเพื่อสร้างกิจกรรมสร้างชุมชนเข้มแข็ง มีระบบ กติกาข้อตกลงร่วมกันกับองค์กร หน่วยงาน และสามารถที่จะเขียนโครงการเพื่อขอรับงบฯสนับสนุนจากองค์กรต่างๆได้
ด้านนางสาวจงกลนี ศิริรัตน์ ผู้รับผิดชอบโครงการเขต 10 ได้กล่าวย้ำว่าการทำงานร่วมกันที่ผ่านมาอยากให้อปท.นำไปถอดบทเรียนนำไปสู่การต่อยอด แม้วันนี้จะเป็นการสรุปผลปิดโครงการภายใต้นิยาม Kick Off แต่คณะทำงานโครงการต้องการให้อปท.เริ่มบทบาทสานต่อด้วยตนเองKick Off โดยคณะทำงานโครงการจะอยู่เบื้องหลังเป็นพี่เลี้ยงให้ เพื่อต่อยอดสร้างเครือข่ายให้เห็นผลต่อเนื่องต่อไป
ทั้งนี้โครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)โดยความร่วมมือระหว่างสถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ,มูลนิธิประชาสังคมอุบลราชธานี
.................................สมศักดิ์ รัฐเสรี (ทีมสื่อ PA ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) รายงาน