ระบบปลูกพืชทดแทน พืชผสมผสาน และคูน้ำคันดิน เพื่อลดการเผาพื้นที่ปลูกข้าวโพด ในชุมชน จังหวัดน่าน

ระบบปลูกพืชทดแทน พืชผสมผสาน และคูน้ำคันดิน เพื่อลดการเผาพื้นที่ปลูกข้าวโพด ในชุมชน จังหวัดน่าน

ข้อมูลโครงการ

ชื่อนวัตกรรม ระบบปลูกพืชทดแทน พืชผสมผสาน และคูน้ำคันดิน เพื่อลดการเผาพื้นที่ปลูกข้าวโพด ในชุมชน จังหวัดน่าน
สถาบันอุดมศึกษาหลัก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
หน่วยงานหลัก คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
หน่วยงานร่วม กลุ่มวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ดิน สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 7 / ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขานาหมื่น จังหวัดน่าน / อบต. สะเนียน
ชื่อชุมชน บ้านใหม่ในฝัน ตำบลสะเนียน อำเภอเมือง จังหวัดน่าน
ชื่อผู้รับผิดชอบ รองศาสตราจารย์ ดร. อาวรณ์ โอภาสพัฒนกิจ
ที่อยู่ผู้รับผิดชอบ ภาควิชาพัฒนาเศรษฐกิจการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ชื่อผู้ร่วมโครงการ/สาขา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชาญชัย แสงชโยสวัสดิ์ / นางสุนีย์รัตน์ โลหะโชติ/ นายปัญญวัฒณ์ อุดราช
การติดต่อ
ปี พ.ศ. 2562
ระยะเวลาดำเนินโครงการ -
งบประมาณ 0.00 บาท

พื้นที่ดำเนินงาน

จังหวัดอำเภอตำบลชื่องานในพื้นที่ลักษณะพื้นที่
น่าน เมืองน่าน สะเนียน place directions

รายละเอียดชุมชน

ข้อมูลพื้นฐาน
ข้อมูลศักยภาพ/ทรัพยากร
ข้อมูลประเด็นปัญหา
ข้อมูลความต้องการเชิงพื้นที่

ประเด็นปัญหาหลัก

ประเด็นที่เกี่ยวข้อง

องค์ความรู้หรือนวัตกรรมที่ใช้ในการดำเนินโครงงาน

ระบบปลูกพืชทดแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ /ระบบปลูกพืชผสมผสานกับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ /การจัดการน้ำในพื้นที่ลาดชัน/ การอนุรักษ์ดินในพื้นที่ลาดชัน/ การถ่ายทอดนวัตกรรมโดยนักวิจัยชุมชน

ประเภทนวัตกรรม

นวัตกรรมชุมชน , นวัตกรรมเกษตร , นวัตกรรมแก้จน , นวัตกรรมสังคม

รายละเอียดนวัตกรรม/หลักการและเหตุผล

เกษตรกรรายย่อยที่อาศัยอยู่ในชุมชนที่สูงโดยเฉพาะพื้นที่ลาดชันของประเทศไทย เช่น พื้นที่จังหวัดน่านหันมาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพราะมีแรงจูงใจด้านราคาและนโยบายของรัฐบาลและภาคเอกชน ถึงแม้ว่าจะมีต้นทุนและหนี้สินสูง ทั้งนี้ เกษตรกรได้หาวิธีลดต้นทุนการผลิตด้วยการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกแทนการเช่าที่ดิน ใช้วิธีการเผาเพื่อเตรียมพื้นที่ปลูก ใช้สารเคมีเพื่อร่นระยะเวลาในขั้นตอนการเพาะปลูก และใช้วิธีการเผาเศษพืช ซึ่งการเผามีผลกระทบต่อความอุดมสมบูรณ์ของดินและทำให้เกิด PM 2.5 แผนงานวิจัย เรื่อง “การพัฒนาระบบเกษตรเพื่อแก้ปัญหาการเผาไหม้พื้นที่เกษตรกรรมและไฟป่าภาคเหนือ: กรณีศึกษาจังหวัดน่าน” จึงได้ดำเนินงานวิจัยเชิงปฏิบัติการ ณ หมู่บ้านใหม่ในฝัน ตำบลสะเนียน อำเภอเมือง จังหวัดน่าน โดย มีวัตถุประสงค์ เพื่อ 1) ศึกษารูปแบบการปลูกพืชแบบผสมผสานอย่างมีส่วนร่วม ที่เหมาะสมกับพื้นที่ลาดชันในจังหวัดน่าน สามารถลดการเผาไหม้พื้นที่เกษตรกรรมและไฟป่าและเพิ่มรายได้ของเกษตรกร 2) พัฒนาระบบอนุรักษ์ดินและน้ำที่สามารถลดปัญหาการเผา ตะกอนดิน สารเคมีปนเปื้อน และช่วยในการปรับปรุงดิน และ 3) พัฒนากระบวนการถ่ายทอดองค์ความรู้รูปแบบการปลูกพืชแบบผสมผสานอย่างมีส่วนร่วม ที่เหมาะสมกับพื้นที่ลาดชัน เพื่อลดการเผาไหม้พื้นที่เกษตรกรรมและไฟป่าและเพิ่มรายได้ของเกษตรกร
ขั้นตอนการวิจัย มีขั้นตอนดังนี้ 1) ศึกษาข้อมูลสถานการณ์การผลิตจากระบบเกษตร ที่เป็นอยู่ในชุมชนก่อนโครงการ 2) ออกแบบและทดลองการปลูกพืช 3 รูปแบบ ได้แก่ ก) พืชทดแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ คือกล้วยน้ำว้ากับสับปะรด / กล้วยน้ำว้ากับตะไคร้ และสับปะรดกับทานตะวัน ข) ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และคันคูรับน้ำรอบเขา และ ค) ปลูกพืชเหลื่อมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์คือ ถั่วนิ้วนางแดง กับงาดำ และกับงาขี้ม้อน 3) การวิเคราะห์ผลผลิต ผลลัพธ์และผลกระทบมิติเศรษฐกิจ อาทิ ต้นทุน ผลตอบแทน-กำไร รวมทั้ง มิติสังคมและสิ่งแวดล้อม 4) การประเมินปริมาณการกร่อนดินและการสูญเสียธาตุอาหารจากการกร่อนดิน 5) การวิเคราะห์เปลี่ยนแปลงสมบัติทางกายภาพ เคมี และชีวภาพของดิน และ 6) การวิเคราะห์ต้นทุนและผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและการบริการทางระบบนิเวศของดินเพื่อหามาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำที่เหมาะสมต่อระบบการ เกษตรบนพื้นที่ลาดชัน
ผลการวิจัย พบว่า รูปแบบการปลูกพืชแบบผสมผสานอย่างมีส่วนร่วมที่เหมาะสมกับพื้นที่ลาดชัน เช่น บ้านใหม่ในฝัน สามารถลดการเผาไหม้พื้นที่เกษตรกรรมและไฟป่าและเพิ่มรายได้ของเกษตรกร ได้แก่ ก) การปลูกพืชทดแทน คือ กล้วยน้ำว้าร่วมกับตะไคร้ และกล้วยน้ำว้าร่วมกับสับปะรด ซึ่งในช่วงปรับเปลี่ยน เกษตรกรเริ่มปลูกประมาณ 3 ไร่ขึ้นไป ใช้เวลาประมาณ 1 ปี จึงเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ และไม่มีการเผา ข) การทำคันคูรับน้ำรอบแปลงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งถึงแม้ว่าจะเพิ่มต้นทุนอีกเล็กน้อย แต่สามารถเพิ่มความชื้นในดินได้มากขึ้นและป้องกันการชะล้างของดิน ทั้งนี้ สามารถปลูกไม้ยืนต้น เช่น มะม่วงหรืออะโวคาโด ที่สร้างรายได้เสริม และ ไม่มีการเผา ค) การปลูกพืชผสมผสาน เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และถั่วนิ้วนางแดง ซึ่งเป็นพืชคลุมดิน ช่วยเพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุในดิน และเพิ่มปริมาณธาตุอาหารหลักของพืช
สำหรับการพัฒนาระบบอนุรักษ์ดินและน้ำที่สามารถลดปัญหาการเผา ตะกอนดิน สารเคมีปนเปื้อน และช่วยในการปรับปรุงดิน ผลการวิจัยพบว่า ในพื้นที่ความลาดชัน 15-30 เปอร์เซ็นต์ การปลูกกล้วยน้ำว้าร่วมกับตะไคร้ หรือการปลูกกล้วยน้ำร่วมกับสับปะรด มีปริมาณการกร่อนดินในระดับที่น้อย (1.83-1.88 ตันต่อไร่ต่อปี) สำหรับพื้นที่ความลาดชัน 30-50 เปอร์เซ็นต์ การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์โดยมีคันคูรับน้ำรอบเขา พบว่ามีปริมาณการกร่อนดินในระดับน้อยกว่า (2.24 ตันต่อไร่ต่อปี) เมื่อเทียบกับการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เชิงเดี่ยว (3.28ตันต่อไร่ต่อปี) ในขณะที่ การปลูกพืชทดแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ กล้วยน้ำว้าร่วมกับสับปะรด หรือ กล้วยน้ำว้าร่วมกับตะไคร้ ช่วยลดปริมาณการกร่อนดิน เหลือเพียงในระดับการสูญเสียดินน้อย 3.6-4.7 ตันต่อปี สำหรับมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ของการสูญเสียธาตุอาหารหลักในดินในรูปของปุ๋ยเคมี ในพื้นที่ความลาดชัน 30-50 เปอร์เซ็นต์ เมื่อปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ร่วมกับระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ ทำให้เกิดความสูญเสียมูลค่า 15,480 บาทต่อไร่ ซึ่งน้อยกว่าการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เชิงเดี่ยวซึ่งมีมูลค่า 20,331 บาทต่อไร่ ดังนั้น การจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำด้วยวิธีปลูกพืชทดแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ การปลูกพืชผสมผสาน รวมทั้ง การทำคันคูรับน้ำขอบเขา สามารถลดปริมาณการกร่อนดิน เพิ่มความชื้นในดินได้
ส่วน กระบวนการถ่ายทอดรูปแบบการปลูกพืชแบบผสมผสานอย่างมีส่วนร่วม ที่เหมาะสมกับพื้นที่ลาดชันในจังหวัดน่าน ผลการวิจัยพบว่า การจัดประชุมนำเสนอผลการดำเนินงาน โดยเชิญเกษตรกร 7 ราย มาเล่าประสบการณ์ พร้อมกับนักวิชาการและนักพัฒนาที่ร่วมเป็นคณะนักวิจัย ทำให้มีส่วนได้เสียและผู้นำชุมชน อาทิ นายก อบต. สะเนียน กำนัน นักวิชาการ และเกษตรกรในตำบล ได้รับทราบผลการวิจัย เกิดความมั่นใจในการร่วมกันแนวทางการขยายผลรูปแบบการปลูกพืช และพัฒนาโครงการวิจัยต่อยอดเพื่อพัฒนาด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากกล้วยน้ำว้าและสับปะรด รวมทั้งการจำหน่ายต่อไป
จากข้อค้นพบข้างต้น ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย คือ องค์การบริหารส่วนตำบลที่ต้องการแก้ปัญหาการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และต้องการลดการเผา สามารถสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยที่สนใจแก้ปัญหาดังกล่าว เพื่อลดการเผาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และเพิ่มรายได้ โดยเริ่มจากการปลูกพืชทดแทนที่เหมาะสมกับพื้นที่ประมาณ 3 ไร่ การทำคันคูรับน้ำรอบแปลงพืช ตลอดจนการปลูกพืชผสมผสานกับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยร่วมมือกับนักวิชาการ นักพัฒนาจากหน่วยงานของภาครัฐ และแหล่งทุนสนับสนุนการวิจัย เพื่อขยายผลการทดลองไปสู่เกษตรกรที่สนใจในตำบลและอำเภอ

คำสำคัญเพื่อการค้นหา

  • การปลูกพืชทดแทน
  • การปลูกพืชผสมผสาน
  • พื้นที่ลาดชัน
  • ระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ
  • ารเผาในพื้นที่เกษตรและพื้นที่ป่า

ภาพถ่าย

วีดิโอ

ไฟล์เอกสาร

โครงการขยายผล

นำเข้าสู่ระบบโดย avornopat_cmu21 avornopat_cmu21 เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2562 10:35 น.