แนวทางการจัดตั้งกลุ่มฝึกวิชาชีพทอผ้าไหมในทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่

แนวทางการจัดตั้งกลุ่มฝึกวิชาชีพทอผ้าไหมในทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่

ข้อมูลโครงการ

ชื่อนวัตกรรม แนวทางการจัดตั้งกลุ่มฝึกวิชาชีพทอผ้าไหมในทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่
สถาบันอุดมศึกษาหลัก มหาวิทยาลัยฟาร์อีเทอร์น
หน่วยงานหลัก ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่
หน่วยงานร่วม ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ เชียงใหม่
ชื่อชุมชน ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ เลขที่ 142 ถนนโชตนา ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50300
ชื่อผู้รับผิดชอบ อาจารย์จันทร์จิตร เธียรสิริ
ที่อยู่ผู้รับผิดชอบ มหาวิทยาลัยฟาร์อีสเทอร์น เลขที่ 120 ถนนมหิดล ตำบลหายยา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50100
ชื่อผู้ร่วมโครงการ/สาขา นางนรพรรณ โพธิพฤกษ์
นางสาวธนาภรณ์ ดวงจันทร์
นายพงศา จัตตสิทธิ์
นางแสงจันทร์ ภูวปัญญา
นางสาวสุชญา หล้าเมือง
นางหทัยกาญจน์ ประไพพานิช
การติดต่อ 053-201800
ปี พ.ศ. 2563
ระยะเวลาดำเนินโครงการ 12 กุมภาพันธ์ 2563 - 31 มีนาคม 2563
งบประมาณ 40,000.00 บาท

พื้นที่ดำเนินงาน

จังหวัดอำเภอตำบลลักษณะพื้นที่
เชียงใหม่ เมืองเชียงใหม่ ช้างเผือก place directions

รายละเอียดชุมชน

ข้อมูลพื้นฐาน
ฝ่ายฝึกวิชาชีพ ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ (2559) ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ ได้ดำเนินการฝึกอบรมวิชาชีพต่างๆ ให้กับผู้ต้องขัง เพื่อให้มีทักษะประสบการณ์ มีทางเลือกในการประกอบอาชีพสุจริตภายหลังจากพ้นโทษ เช่น วิชาชีพนวดแผนไทย วิชาชีพการประกอบอาหารและเครื่องดื่ม วิชาชีพงานศิลปะ วิชาชีพการเย็บผ้า วิชาชีพช่างไม้เครื่องเรือน วิชาชีพการเย็บปัก ถักร้อย และวิชาชีพการทอผ้าไทยพื้นบ้าน โดยเฉพาะการฝึกอบรมวิชาชีพด้านการทอผ้า ได้ดำเนินการภายใต้กรอบแนวคิดการน้อมนำแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มาปฏิบัติเพื่อการเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้ต้องขังให้ใช้ชีวิตแบบพอเพียงเมื่อพ้นโทษ โดยมีเป้าหมายหลักในการสร้างกระแสสังคม ค่านิยมของผู้ต้องขังให้มีการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้เป็นกรอบความคิดหรือส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต ผ่านการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง และสามารถนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสม ด้วยหลัก 3 ประการ คือ “ความพอประมาณ ความมีเหตุผล การมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี” โดยอยู่บนเงื่อนไขของความรู้และคุณธรรม ทั้งนี้ ได้เน้นกระบวนการดำเนินงานการเปลี่ยนวิถีชีวิตผู้ต้องขังให้ใช้ชีวิตแบบพอเพียงเมื่อพ้นโทษ และเมื่อต้องโทษอยู่ในทัณฑสถานฯ เกิดการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต โดยใช้ชีวิตแบบพอเพียง ผ่านการฝึกอบรมวิชาชีพด้านการทอผ้าไทยควบคู่กับการศึกษาเรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขังให้สามารถพึ่งพาตนเองได้บนวิถีความพอเพียงภายหลังจากพ้นโทษ โดยสอดคล้องกับสภาพพื้นที่ สังคม ภูมิปัญญาท้องถิ่นของตน ในขณะเดียวกันการที่ฝึกอบรมให้ผู้ต้องขังได้ประกอบอาชีพทอผ้า ขณะต้องโทษอยู่ในทัณฑสถานฯ ยังเป็นการสร้างอาชีพควบคู่กับการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมในท้องถิ่นล้านนา
ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เชียงใหม่ (2559) จากพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารีเมื่อครั้นเสด็จทรงงานพื้นที่เรือนจำชั่วคราวเขาน้อย อำเภอเมือง จังหวัดน่าน เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2555 ทรงติดตามงานการส่งเสริมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและได้ทรงตรัสแก่ผู้บริหารระดับสูงกรมหม่อนไหมและกรมราชทัณฑ์ ไว้ว่า “งานผ้าไหมเป็นงานที่มีค่า ให้รักษารากเหง้าภูมิปัญญาของไทย” นับเป็นจุดเริ่มต้นในทอผ้าไหมในทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่
ในปีพ.ศ.2556 ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ ได้ทำการสำรวจกี่ทอผ้าภายในทัณฑสถานฯ พบว่า เกิดการชำรุดทรุดโทรม ไม่สามารถใช้งานได้ ในขณะเดียวกันทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่มีทรัพยากรบุคคลที่มีค่า มีความสามารถพิเศษ เป็นกำลังการผลิตด้านการทอผ้าแบบหลากหลาย เนื่องจากผู้ต้องขังที่อยู่ในทัณฑสถาน มีที่มาจากหลากหลายท้องถิ่นวัฒนธรรม ทั้งชาวไทยใหญ่ ชาวพื้นเมือง และผู้ต้องขังจากภาคต่างๆ ที่ถูกย้ายระบายมาคุมขัง นับได้ว่าหากได้ริเริ่มการทอผ้าไทยจะได้ลายผ้าที่มีความเป็นเอกลักษณ์และมีความหลากหลายเหมาะแก่การเป็นแหล่งการเรียนรู้วัฒนธรรมด้านการทอผ้าไทย
จากการสำรวจดังกล่าว ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ จึงเห็นว่าสามารถดำเนินการสร้างพื้นที่ ซึ่งเป็นศูนย์การศึกษาเรียนรู้ศิลปะการทอผ้า ควบคู่กับการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงภายในทัณฑสถานฯ ได้อย่างครบวงจรตั้งแต่การผลิตในระดับต้นน้ำ (การพัฒนาปัจจัยการผลิต) ระดับกลางน้ำ (การแปรรูป) และระดับปลายน้ำ (การตลาด) โดยการผลิตในระดับต้นน้ำ ได้ดำเนินการให้การฝึกอบรมผู้ต้องขังให้เกิดการปรับเปลี่ยนนำแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ควบคู่กับการฝึกอบรมการทอผ้าไทยให้มีความชำนาญเกิดการเรียนรู้กระบวนการผลิต การจัดการผลผลิต
ในระดับกลางน้ำ จากการฝึกอบรมวิชาชีพการทอผ้าไทย ผู้ต้องขังเกิดความชำนาญ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ทำให้สามารถทอผ้าที่มีลายเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นได้อย่างประณีต และอาจต่อยอดไปจนถึงการสร้างลายผ้าใหม่ๆ ได้
ในระดับปลายน้ำ สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจของพื้นที่ในจังหวัดเชียงใหม่ จากการเกิดแหล่งศึกษาดูงานแห่งใหม่ ซึ่งเป็นที่รู้จักและเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกเข้ามาเยี่ยมชมสัมผัส ผลิตภัณฑ์จากการทอผ้า อาจนำแสดงและจำหน่ายในงานนิทรรศการผลิตภัณฑ์ราชทัณฑ์ งานแสดงสินค้า OTOP ของจังหวัด และมูลนิธิหรือร้านค้าในพระองค์
ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ (2558) ในปี พ.ศ2557 ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่จึงได้จัดทำโครงการส่งเสริมภูมิปัญญาการทอผ้าไหมตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณดำเนินโครงการฯ จากกรมหม่อนไหมจำนวน 126,800 บาท ซึ่งกรมหม่อนไหมได้ให้การสนับสุนนงบประมาณดำเนินการฝึกอบรม จำนวน 127,300 บาท และให้ความอนุเคราะห์สนับสนุนวิทยากรฝึกอบรมฯ ให้ความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติในการฝึกอบรมโดยเน้นการฟอกย้อมเส้นไหม การกรอไหม การทอผ้าพื้นเมือง
ส่วนในเรื่องกี่ทอผ้า ได้ดำเนินการประสานให้ทัณฑสถานบำบัดพิเศษสำปางทำการซ่อมแซมชิ้นส่วนกี่ทอผ้าที่สภาพทรุดโทรมและประกอบให้สามารถใช้งานได้จำนวน 10 หลัง กอปรกับการมีงบประมาณที่จำกัดและปัญหาอันเกิดจากตัวกี่ทอผ้าที่ทำไม่สมบูรณ์ รวมทั้งจำนวนกี่ที่ไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ต้องขังโทษที่มีความสนใจเข้ารับการฝึกอบรมฯ ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่จึงได้ดำเนินการจัดทำโครงการส่งเสริมภูมิปัญญาการทอผ้าไหมตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีโดยคณะอนุกรรมการอำนวยการโครงการขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้การสนับสนุนงบประมาณดำเนินโครงการฯ ทั้งสิ้น 275,800 บาท และได้รับความอนุเคราะห์วิทยากรฝึกอบรมจากศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 เชียงใหม่ ได้แก่ นายวิเชียร เสนาธรรม และนางอุษา เสนาธรรม ซึ่งจุดนี้ถือว่าทำให้โครงการดังกล่าวเกิดผลขึ้นมาอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนมากยิ่งขึ้น เนื่องจากวิทยากรทั้งสองเป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถในด้านการทอผ้า ผลการดำเนินงานปัจจุบันผู้ต้องขังที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้เรียนรู้กระบวนการขั้นตอนการทอผ้าอย่างละเอียด เทคนิคการแก้ปัญหาการทอ การออกแบบและขึ้นลายผ้า การคัดลายการเก็บตะกอ การทอผ้ายกดอกและผ้าพื้น
ในปี พ.ศ.2557 ทางทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณตามโครงการส่งเสริมภูมิปัญญาการทอผ้าไทยตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อไปยังสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย จำนวน 218,400 บาท และต่อมาทางทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ได้รับการสนับสนุนวิทยากรจากบริษัทไทยซิลค์วิลเลจจำกัด อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ในการเข้าฝึกอบรมวิชาชีพการออกแบบ และสร้างผลิตภัณฑ์งานประดิษฐ์จากเศษผ้าไหมและได้ดำเนินการจัดอบรมเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากศูนย์ศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์กรมหาชน) ในการเข้าฝึกอบรมวิชาชีพการขึ้นหัวม้วน ตลอดจนสอนการทำเครื่องกรอไหมด้วยวัสดุที่หาง่ายในท้องถิ่น ระหว่างวันที่ 14 – 20 พฤศจิกายน 2558 ต่อด้วยมหาวิทยาลัยฟาร์อีสเทอร์นร่วมกับศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติ จัดทำงานวิจัยการทำหลักสูตรการฝึกอบรมการทอผ้าไหมที่เหมาะสมต่อผู้ต้องขังส่งผลให้ทางศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ ได้สนับสนุนงบประมาณจำนวน 133,000 บาท โดยเป็นค่าใช้จ่ายรวมทั้งค่าวิทยากรซึ่งได้ประสานปราชญ์ผู้เชี่ยวชาญงานทอผ้าไหมที่จังหวัดลำพูนและเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อวัตถุดิบและวัสดุอุปกรณ์เพิ่มเติมให้แก่ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่
จากการสัมภาษณ์ผู้ปกครองโรงงานเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันของกลุ่มวิชาชีพทอผ้าไหม (2561) พบว่า ในโรงงานทอผ้ามีผู้ต้องขัง จำนวน 87 คน แบ่งเป็นผู้ต้องขังทอผ้าฝ้าย จำนวน 50 คน ผู้ต้องขังทอผ้าไหม จำนวน 35 คน และผู้ต้องขังที่เข้ามาในกลุ่มใหม่ (ยังไม่ได้เริ่มทอผ้า) จำนวน 2 คน ปัจจุบันมีกี่ทอผ้าไหม จำนวน 30 หลัง และกี่ทอผ้าฝ้าย จำนวน 11 หลัง มีผ้าไหมที่ทอเสร็จแล้ว ประมาณ 50 ผืน ลวดลายผ้าไหมที่ออกแบบโดยผู้ต้องขังและทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์มีจำนวน 5 ลาย ได้แก่ ลายนารีสานฝัน ลายรมิตา ลายยิ้มสยาม ลายบัวบูชา และลายมงกุฏแก้ว นอกจากนี้มีอีก 2 ลาย กำลังอยู่ในขั้นตอนการขอลิขสิทธิ์ คือ ลายแก้วตาเสาวรส และ ลายกำลังใจหลังกำแพง (เป็นลวดลายที่ได้จากการประกวดจากงานวิจัยระยะที่ 1 คือ ลายยิ้มสยาม ลายบัวบูชา ลายแก้วตาเสาวรส) รายได้จากกลุ่มวิชาชีพทอผ้าไหม ส่วนใหญ่มาจากการทองานจ้าง แต่ผ้าไหมที่ทอเสร็จแล้วยังขายได้น้อย ขาดการประชาสัมพันธ์
ข้อมูลศักยภาพ/ทรัพยากร
- ผู้อำนวยการทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่เป็นผู้มีวิสัยทัศน์มองเห็นความสำคัญของการแก้ไขปัญหาอย่างมีส่วนร่วมมีความมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหากลุ่มวิชาชีพทอผ้าไหม ให้สามารถพึ่งพอตนเองได้
- ผ้าไหมเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูง สามารถสร้างรายได้ให้ผู้ต้องขังเลี้ยงดูตนเองและส่งเลี้ยงดูครอบครัวได้
- การทอผ้าไหมเป็นงานหัตถกรรมที่ต้องใช้ความประณีตและความพิถีพิถันในการผลิตอย่างยิ่ง จึงเป็นฝึกให้ผู้ต้องขังมีสมาธิ และมีจิตใจแน่วแน่ในการทอผ้า เมื่อผู้ต้องขังทอผ้าไหมเสร็จแต่ละผืน จะมีความภาคภูมิใจในผลงานและความสามารถของตนเอง
ข้อมูลประเด็นปัญหา
- ไม่มีการจัดทำหลักสูตรวิชาชีพทอผ้าที่เป็นลายลักษณ์อักษรอย่างเป็นระบบ
- ผู้ต้องขังไม่มีความรู้และทักษะการผลิตในบางขั้นตอนต้องรอให้อาจารย์ผู้สอนจากภายนอกมาสอน
- ขาดความรู้เรื่องวัตถุดิบในการผลิตต้องรออาจารย์ผู้สอนเป็นจัดหาให้
- เจ้าหน้าที่ไม่มีความรู้และความสามารถในวิชาชีพทอผ้า
- ผ้าไหมที่ผู้ต้องขังทอเสร็จแล้ว ยังมีจำนวนไม่มากพอที่จะสามารถนำจัดจำหน่ายได้
- ขาดเงินทุนสนับสนุนในการปันผลให้ผู้ต้องหาและจัดจ้างอาจารย์ผู้สอนทอผ้า
- กี่ทอผ้าไม่ได้มาตรฐาน
ข้อมูลความต้องการเชิงพื้นที่
1. กลุ่มฝึกวิชาชีพทอผ้าไหมมีการพัฒนาในด้านการผลิตผ้าไหม
2. ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มทอผ้าไหมมีความสอดคล้องตามความต้องการของตลาด
3. สมาชิกกลุ่มทอผ้าไหมมีความมั่นใจในการทำงานมากขึ้นและมีความภูมิใจในผลิตภัณฑ์ของตนเอง

ประเด็นปัญหาหลัก

ประเด็นที่เกี่ยวข้อง

องค์ความรู้หรือนวัตกรรมที่ใช้ในการดำเนินโครงงาน

การทอผ้าไหมเป็นเครื่องมือในการสร้างความภาคภูมิใจ และคุณค่าในตนเองของผู้ต้องขัง ดังนั้นการจัดตั้งกลุ่มฝึกวิชาชีพทอผ้าไหมในทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่จึงเป็นต้นแบบการใช้การทอผ้าเพื่อพัฒนาพฤตินิสัยของผู้ต้องขัง สำหรับเรือนจำและทัณฑสถานอื่น

ประเภทนวัตกรรม

นวัตกรรมชุมชน , นวัตกรรมเกษตร , นวัตกรรมแก้จน , นวัตกรรมสังคม

รายละเอียดนวัตกรรม/หลักการและเหตุผล

ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ เป็นหนึ่งในเรือนจำที่ทำหน้าที่ดูแลนักโทษหญิง เพื่อให้การดำเนินงานบรรลุตามวิสัยทัศน์และพันธกิจของกรมราชทัณฑ์ ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ ได้ดำเนินการฝึกอบรมวิชาชีพต่างๆ ให้กับผู้ต้องขัง เพื่อให้มีทักษะประสบการณ์ มีทางเลือกในการประกอบอาชีพสุจริตภายหลังจากพ้นโทษ
การฝึกวิชาชีพกลุ่มทอผ้าไหมเป็นกลุ่มวิชาชีพที่เริ่มตั้ง ปี พ.ศ. 2556 ซึ่งพบว่า มีปัญหาค่อนข้างมาก ต้องพึ่งพาวิทยากรจากภายนอกมาถ่ายทอดทักษะความรู้ในการทอผ้า ขาดความต่อเนื่องในการเข้ามาสอน มีวิทยากรสอนหลายคนสอนให้ทำคนละเทคนิคทำให้ผู้เรียนเกิดความสับสน ขาดวัสดุอุปกรณ์ เมื่อมีปัญหาในการทอหรืออุปกรณ์เสียแก้ไขปัญหาไม่ได้ ต้องรอวิทยากรมาช่วย จากปัญหาที่กล่าวมาเป็นที่มาของโจทย์งานวิจัยระยะที่ 1 “การพัฒนาหลักสูตรวิชาชีพทอผ้าไหมแบบมีส่วนร่วมของทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่” ดำเนินการระหว่างตุลาคม 2558 ถึง กันยายน 2559 และได้ดำเนินงานวิจัยต่อเนื่องมาระยะที่ 2 ซึ่งเป้าหมายคือเพื่อเสริมสร้างความชำนาญการให้ผู้ต้องขังพร้อมที่จะถ่ายทอดสู่ผู้ต้องขังรุ่นต่อไป จึงเป็นที่มาของงานวิจัยระยะที่ 2 “แนวทางการพัฒนาผู้ต้องขังให้เป็นครูสอนการทอผ้าไหมแบบมีส่วนร่วมของกลุ่มวิชาชีพทอผ้าไหม ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่” ดำเนินการระหว่างกรกฏาคม 2560 ถึง เมษายน 2562 ได้งบสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยฟาร์อีสเทอร์น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น และกรมหม่อนไหม
จากการดำเนินงานวิจัยทั้งสองระยะ ทีมวิจัยได้จัดตั้ง “ศูนย์วิจัยชุมชนกลุ่มฝึกวิชาชีพทอผ้าไหมในทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่” และถอดบทเรียนที่เป็นองค์ความรู้แนวทางการจัดตั้งกลุ่มฝึกวิชาชีพทอผ้าไหม เพื่อเป็นต้นแบบให้กับเรือนจำหรือทัณฑสถานอื่นที่มีความสนใจ

คำสำคัญเพื่อการค้นหา

  • การจัดตั้งกลุ่มฝึกวิชาชีพทอผ้าไหม
  • การทอผ้าไหม
  • ทัณฑสถานหญิง
  • เรือนจำ

ภาพถ่าย

วีดิโอ

ไฟล์เอกสาร

โครงการขยายผล

นำเข้าสู่ระบบโดย junjitthiensiri junjitthiensiri เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2563 09:46 น.